ในตอนที่แล้วเราเล่าถึงที่มาของตะเกียบไปกันแล้ว ว่าเปลี่ยนชื่อมากี่รอบ ออกมาจากครัวแล้วส่งมีดกลับไปแทนที่ได้ยังไง มาในตอนนี้มาดูความเชื่อที่เกี่ยวโยงกับตะเกียบกันว่ามีอะไรบ้าง ไปจนถึงวิธีการจับตะเกียบที่ถูกต้อง และ ความแตกต่างทางวัฒนธรรมเล็กๆน้อยๆ ของจีนกับญี่ปุ่น มาเริ่มกันเลย
ใครยังไม่อ่านตอนที่ 1 ย้อนกลับไปอ่านได้ที่นี่
礼记 มีบันทึกการใช้ตะเกียบโดย 孔子 และ 12 ธรรมเนียมการใช้ตะเกียบ
อีกหนึ่งหลักฐานที่แสดงความนิยมของตะเกียบว่าแพร่หลายมาตั้งแต่โบราณเลย คือการบันทึกธรรมเนียมการใช้ตะเกียบใน《礼记》(Lǐjì | บันทึกพิธีกรรม) ของ 孔子 (Kóngzǐ | ขงจื้อ) ให้ใช้อย่างถูกต้องตามธรรมเนียม(โบราณ) ควรมีอะไรบ้าง มาดูกัน
- 三长两短 (sān cháng liǎng duǎn) – ห้ามวางตะเกียบไม่เรียบร้อย การวางตะเกียบไม่เรียบร้อย สั้นๆ ยาวๆ ไม่เท่ากันถือเป็นเรื่องอัปมงคลเหมือนโครงสร้างของโลงศพไม่รวมฝาโลง สั้น 2 ด้าน ยาว 3 ด้าน
- 仙人指路 (xiān rén zhǐ lù) – ห้ามชูนิ้วเมื่อจับตะเกียบ การใช้นิ้วชูขึ้นมาเหมือนกับการสั่งหรือด่าคนอื่น
- 品箸留声 (pǐn zhù liú shēng) – ห้ามอมหรือกัดตะเกียบ เป็นการเสียมารยาท อาจส่งเสียงรบกวนผู้อื่น และ อาจถูกมองว่าไร้การศึกษา
- 击盏敲盅 (jī zhǎn qiāo zhōng) – ห้ามใช้ตะเกียบเคาะจานชาม ขอทานในสมัยจีนโบราณมักจะเคาะจานชามเพื่อขออาหาร ทำให้ดูเป็นกิริยาที่เลียนแบบขอทาน
- 执箸巡城 (zhí zhù xún chéng) – ห้ามถือตะเกียบขยับไปมาเลือกไม่ได้ว่าจะคีบอะไรสักทีบนโต๊ะ ดูเหมือนจะคีบแต่สิ่งที่ชอบที่สุด ทำเหมือนไม่มีคนอื่นร่วมโต๊ะอยู่ เป็นการเสียมารยาท
- 迷箸刨坟 (mí zhù páo fén) – ห้ามเขี่ยอาหารหาเนื้อสัตว์ เป็นการเอาเปรียบผู้ร่วมโต๊ะอาหาร
- 泪箸遗珠 (lèi zhù yí zhū) – ห้ามทำน้ำในอาหารหยดใส่อาหารจานอื่นระหว่างคีบ จะถูกมองว่าเสียมารยาท หากมองในมุมมองปัจจุบันก็ถือว่าไม่ถูกสุขลักษณะ
- 颠倒乾坤 (diān dǎo qián kūn) – ห้ามใช้ตะเกียบกลับด้าน จะถูกตำหนิว่าหิวจนไม่สังเกตอะไรเลย
- 定海神针 (dìng hǎi shén zhēn) – ห้ามทำตะเกียบตกในจาน ถือว่าเป็นเรื่องน่าขายหน้า
- 当众上香 (dāng zhòng shàng xiāng) – ห้ามปักตะเกียบไว้บนชามข้าว ถือว่าเป็นเรื่องไม่สมควรเหมือนการจุดธูปไหว้คนตาย
- 交叉十字 (jiāo chā shí zì) – ห้ามวางตะเกียบไขว้กัน การวางไขว้กันเป็นรูปกากบาทคนอื่นจะตีความว่าคุณกำลังปฎิเสธการกินอาหารร่วมกันกับเขา
- 落地惊神 (luò dì jīng shén) – ห้ามทำตะเกียบตกพื้น ถือว่าเสียมารยาทเป็นอย่างมาก และ โบราณเชื่อว่าเป็นคนอกตัญญูเพราะเป็นการรบกวนบรรพบุรุษที่ฝังอยู่ในพื้นดิน
สารพัดความเชื่อคู่ตะเกียบในมือคุณ
ทำไมตะเกียบต้องยาวเท่านี้ ทำไมตะเกียบต้องปลายมนก้นเหลี่ยม ทำไมถึงนิยมใช้ในงานแต่งและอีกสารพัดคำถามที่ยังค้างคาใจว่าทำไมตะเกียบถึงมีความเชื่อผูกมากันแบบนี้ มาลองดูความเชื่อเด่นๆ กันดีกว่ามีอะไรบ้าง
阴阳两合 (yīn yáng liǎng hé | หยินหยางสองประสาน)
คนจีนเชื่อว่าตะเกียบเนี่ยเป็นเหมือน 阴 และ 阳 ข้างที่ไม่ขยับแทน 阴 ข้างที่ขยับคือ 阳 อยู่คู่กันเพื่อให้สามารถใช้งานได้
天圆地方 (tiān yuán dì fāng | ฟ้ากลมดินเหลี่ยม)
ความเชื่อนี้เป็นที่มาของ ปลายตะเกียบต้องมน เปรียบเหมือน ฟ้า และ อีกด้านต้องเหลี่ยม เปรียบเหมือน ผืนดิน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความเชื่อที่สอดคล้องกับ 阴阳两合 หากพิจารณาดูแล้ว แนวคิดนี้คือการออกแบบตะเกียบให้ไม่กลิ้งไปมานั่นเอง
天地人 (tiān dì rén | ฟ้า ดิน คน)
ตำแหน่งการจับตะเกียบเองก็ทำให้เกิดความเชื่อเชิงสัญลักษณ์จากช่องว่างของตะเกียบ คนจีนใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้จับตะเกียบบน นิ้วกลางอยู่ตรงกลางรองรับตะเกียบบน นิ้วนางและนิ้วก้อยรองรับตะเกียบล่าง ช่องว่างที่เกิดขึ้นเสมือนเป็น 天 อยู่ด้านบน 地 อยู่ด้านล่าง และ 人 อยู่ตรงกลาง
七寸六分 (qī cùn liù fēn | 7 ชุ่น 6 เฟิน)
ความเชื่อที่กำหนดความยาวมาตรฐานของตะเกียบ คือ 七寸六分 หรือแปลงเป็นหน่วยปัจจุบันอยู่ที่ราวๆ 22-24 ซ.ม. ซึ่งเชื่อว่าเป็นตัวแทนของ 七情六欲 (qī qíng liù yù | อารมณ์ทั้ง 7 และ ความปรารถนาทั้ง 6) ของมนุษย์
七情 [1] ได้แก่ 喜 (xǐ | ความยินดี)、怒 (nù | ความโกรธ)、哀 (āi | ความเศร้า)、惧 (jù | ความกลัว)、爱 (ài | ความรัก)、恶 (è | ความเกลียด)、欲 (yù | ความปรารถนา)
六欲 [2] ได้แก่ 见欲 (jiàn yù | ตา/รูป)、听欲 (tīng yù | หู/เสียง)、香欲 (xiāng yù | จมูก/กลิ่น)、味欲 (wèi yù | ปาก/รส)、触欲 (chù yù | กาย/สัมผัส)、意欲 (yì yù | ใจ)
สารพัดความเชื่อกับงานแต่ง
นอกจากนี้ตะเกียบยังมีความเชื่อว่าเป็นของมงคลในงานแต่ง และมักเล่นคำกันเยอะ ถึงขนาดบางพื้นที่ใช้ตะเกียบเพื่อคีบเปิดผ้าปิดหน้าเจ้าสาวเลยก็มี คำที่นิยมพูดถึงกันได้แก่
- 快快生子 (kuài kuài shēng zǐ | มีลูกไวไว)
- 成双成对 (chéng shuāng chéng duì | คู่รักเคียงคู่)
- 快快乐乐 (kuài kuài lè lè | มีความสุข)
- 团团圆圆 (tuán tuán yuán yuán | อยู่พร้อมหน้าพร้อมตา)
จับตะเกียบให้ถูกต้อง ทำอย่างไร
การจับตะเกียบหลายๆ คน ก็ยังคงไม่เข้าใจ บางทีคนที่จับได้ก็ไม่รู้จะสอนยังไง เพราะรู้ตัวอีกทีก็จับถูกแล้ว แล้วคนจีนมีวิธีจับยังไงให้ถูกต้องและคีบได้จริงๆ มาดูกันเลย
- 筷子使用拇指、食指和中指 轻轻地握住 kuài zǐ shǐ yòng mǔ zhǐ 、 shí zhǐ hé zhōng zhǐ qīng qīng dì wò zhù ใช้นิ้วโป้ง นิ้วชี้ และ นิ้วกลาง จับตะเกียบเบาๆ
- 拇指是指向食指的指甲 mǔ zhǐ shì zhǐ xiàng shí zhǐ de zhǐ jiǎ นิ้วโป้งวางชี้ไปที่เล็บของนิ้วชี้
- 从拳头伸出 1 公分(1cm) cóng quán tóu shēn chū 1 gōng fēn ให้ส่วนบนของตะเกียบยื่นเลยออกมาจากกำปั้นประมาณ 1 ซ.ม.
- 只上侧移动 zhī shàng cè yí dòng ขยับเฉพาะตะเกียบบนเท่านั้น
- 筷尖要齐 kuài jiān yào qí ปลายตะเกียบเสมอกัน
- 放在无名指指甲的旁边 fàng zài wú míng zhǐ zhǐ jiǎ de páng biān วางตะเกียบล่างไว้ข้างเล็บนิ้วนาง
- 拇指和食指的中间把筷子夹住 mǔ zhǐ hé shí zhǐ de zhōng jiān bǎ kuài zǐ jiā zhù หนีบตะเกียบไว้ระหว่างนิ้วชี้และนิ้วโป้ง
พอจะจับตะเกียบกันเป็นบางยัง ลองไปใช้ดูได้ผลยังไงมาเล่าให้ฟังหน่อยนะ
ความแตกต่างเกี่ยวกับตะเกียบของจีน เกาหลี และญี่ปุ่น
เล่ามาซะยาว แต่ก็อยากจะเสริมอีกนิดนึงเรื่องของความแตกต่างทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับตะเกียบในจีน เกาหลี และ ญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรูปร่างและขนาดแล้ว ยังมีจุดเล็กๆ น้อยๆ ที่ควรรู้ตามนี้เลย
ขนาดและรูปร่าง ตะเกียบ
- จีน ยาวที่สุดในบรรดาทั้งหมด นิยมทำรูปร่างเป็นปลายกลมก้นเหลี่ยม แต่ปลายจะไม่เรียวมาก นิยมใช้ไม้ไผ่หรือไม้ในการสร้าง
- ญี่ปุ่น สั้นที่สุดในบรรดาทั้ง 3 ประเทศ ปลายมนเรียวมากทึ่สุด นิยมทำจากไม้ไผ่หรือไม้เช่นกัน
- เกาหลี ความยาวอยู่ระหว่างกลางจีนกับญี่ปุ่น มีลักษณะแบน ทำจากโลหะ
การวางตะเกียบบนโต๊ะ
- จีน วางตะเกียบไว้ด้านข้างบนที่รองตะเกียบ ปลายตะเกียบชี้ไปด้านหน้า
- ญี่ปุ่น วางตะเกียบเป็นแนวนอน ขนานไปกับลำตัวเรา และบางพื้นที่จะมองว่าการวางตะเกียบโดยชี้ไปด้านหน้าทางคนอื่นเป็นเรื่องไม่สุภาพ
การใช้ด้านก้นตะเกียบ
- จีน มองว่าใช้ก้นตะเกียบเป็นเรื่องไม่สุภาพ (สอดคล้องกับเรื่องการออกแบบตะเกียบให้ปลายเหลี่ยม และ สุขลักษณะ) หากต้องตักอาหารจะใช้ตะเกียบกลาง หรือ ช้อนกลางแทน
- ญี่ปุ่น อนุโลมให้ใช้ก้นตะเกียบคีบอาหารจานกลางเพื่อเข้าจานตัวเอง หรือคีบให้คนอื่นหากไม่มีตะเกียบแยก และ กลับด้านมาใช้ปลายเหมือนเดิมเมื่อต้องนำเข้าปาก นี่เป็นเหตุผลเรื่องสุขลักษณะเช่นกัน และทำให้ตะเกียบบางแบบมีปลายมนเรียวทั้ง 2 ด้าน
สารพัดเรื่องราวของตะเกียบอัดไปแน่นๆ เน้นๆ ไม่อยากจะเชื่อว่าจากแท่งไม้คู่หนึ่งในมือเราที่ใช้รับประทานอาหารจนเป็นเอกลักษณ์ จะมีเรื่องราวที่ผูกเกี่ยวคล้องกันมาอย่างล้ำลึกและซับซ้อนกันขนาดนี้ ใครเคยได้ยินเรื่องไหนมาบ้าง หรือมีเรื่องที่ยังไม่ได้เล่าอีก แวะมาเล่ากันให้ฟังได้เลยนะครับ
เรื่องต่อไปอยากให้เล่าเรื่องอะไร มาพิมพ์บอกกันไว้ได้เลย
อยากสนับสนุนเพจ ลองดูสินค้าที่น่าสนใจได้ตามลิงค์นี้ https://tutustory.kol.eco/ หรือ ทำได้ง่ายๆ ช่วยแชร์โพสนี้เลย
ติดตามเรื่องราวภาษาจีนย่อยง่ายๆ ด้วยภาพ หรือมีเรื่องอะไรเกี่ยวกับภาษาจีนมาคุยกันได้ที่
เพิ่มเติม
- [1] หมายเหตุ: เนื่องจาก 七情 มีหลายตำราอ้างอิง และสอนแตกต่างกัน จึงขอยึดตาม《礼记》ที่ใช้เล่าเรื่องเป็นหลักในบทความนี้
- [2] หากเทียบ กับประสาทสัมผัสทั้ง 5 แล้ว จะเรียกเป็นคำเหล่านี้แทนในปัจจุบัน
- 见欲 คือ 视觉 (shì jué)การมองเห็น
- 听欲 คือ 听觉 (tīng jué)การได้ยิน
- 香欲 คือ 嗅觉 (xiù jué)การดมกลิ่น
- 味欲 คือ 味觉 (wèi jué)การรับรส
- 触欲 คือ 触觉 (chù jué)การสัมผัส
อ้างอิง
- https://baike.baidu.com/item/三礼/2251326
- https://baike.baidu.com/item/筷子/249194#:~:text=筷子是华夏饮食文化,都有着悠久的历史。&text=中国人习惯用筷子,用手指去抓取。
- https://m.sohu.com/n/486375562/
- https://www.arsomsiam.com/การใช้ตะเกียบของชาวจีน/
- https://www.youtube.com/watch?v=1ck8eJYzuKc&t=1s
- https://www.youtube.com/watch?v=oqykk7xq8MI&list=PLfCJWYegt3EZL4-M2uxKzWMI1tDU8o94D
- https://www.youtube.com/watch?v=8xrnmKMDXb4&t=235s
- https://linkjapancareers.net/chopstick-etiquette-japan-using-chopsticks-in-japan/
- https://pogogi.com/differences-between-japanese-chinese-and-korean-chopsticks