Number in Chinese Cover

1 2 3 ไม่ได้มีแค่ 一,二,三 |ภาษาจีนกับรูปแบบตัวเลขต่างๆ

ระบบตัวเลขที่เราใช้อย่างแพร่หลายและคุ้นเคยกันในปัจจุบัน ตัวเลขอารบิก ระบบนี้ได้รับการยอมรับจากนานาชาติทำให้สื่อสารเรื่องจำนวนตัวเลขกันได้ง่ายขึ้นอย่างมหาศาล ภาษาไทยเองแม้จะมีสัญลักษณ์สำหรับตัวเลขเป็นของตัวเอง แต่ก็ได้รับอิทธิพลมาโดยตรงจากระบบนี้เช่นกันสำหรับภาษาจีนเองก็ได้รับอิทธิพลจากตัวเลขระบบนี้ด้วยเช่นกัน ตัวเลขอารบิกได้ถูกใช้ในภาษาจีน แต่ภาษาจีนเองก็มีรูปแบบตัวเลขแบบต่างๆ ที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย ที่พบการใช้โดยแพร่หลายมีอยู่ 4 รูปแบบ ได้แก่

  • รูปแบบอารบิก 阿拉伯数字 Ālābó shùzì (0, 1, 2, 3, …),
  • รูปแบบทั่วไป 小写数字 xiǎoxiě shùzì (〇,一,二,三,……)
  • รูปแบบตัวเต็ม มักใช้สำหรับการเงิน 大写数字 dàxiě shùzì (零,壹,贰,叁,……),
  • รูปแบบ 天干 tiāngān (甲,乙,丙,丁,……)

สำหรับบทความนี้จะขอกล่าวถึงแค่ 小写数字,大写数字 และ 天干 นะครับ อ่านต่อได้เลย

One to ten in Chinese

小写数字 ตัวเลขในภาษาจีนที่ใช้ทั่วไป

จีนเป็นหนึ่งในชนชาติที่มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมมายาวนาน แถมโดดเด่นในเรื่องการค้ามาตลอด ตัวเลขจึงอยู่ในภาษามาโดยตลอด แม้จะได้รับอิทธิพลจากตัวเลขอารบิก แต่ก็ยังมีเอกลักษณ์อยู่ในการอ่านตัวเลขและการเขียนในรูปแบบอักษรจีนมาโดยตลอด สำหรับอักษรจีนในกลุ่มนี้ที่เรารู้จักกันดีได้แก่

  • 〇 líng || ศูนย์
  • 一 yī / yāo || หนึ่ง
  • 二 èr / 两 liǎng || สอง
  • 三 sān || สาม
  • 四 sì || สี่
  • 五 wǔ || ห้า
  • 六 liù || หก
  • 七 qī || เจ็ด
  • 八 bā || แปด
  • 九 jiǔ || เก้า
  • 十 shí || สิบ
Big number in Chinese

小写数字 กับตัวเลขหลักเกินหมื่น

ต่อกันกับ 小写 อีกนิด ตัวเลขที่หลักเกินหมื่น อาจจะสับสนสำหรับคนไทยอยู่พอสมควร เพราะในภาษาไทย เรามีชื่อเรียกกำกับทุกหลักไป ไล่ตั้งแต่ สิบ ไปจนถึงล้าน เราถึงค่อยเริ่มผสมหลัก เช่น ร้อยล้าน (จริงๆ คำไทยเดิมมีคำว่า โกฏิ ที่ใช้แทน สิบล้าน แต่ปัจจุบันไม่ค่อยนิยมใช้แล้ว)

ซึ่งแตกต่างจากภาษาจีนกำกับในแต่ละหลักน้อยกว่าเรา (คล้ายกับภาษาอังกฤษ) สำหรับหลักที่ไม่มต้องใช้การผสมหลักเข้าด้วยกัน เขียนออกมาเหมือนอ่านออกเสียง เห็นได้ตั้งแต่หลักแสนเป็นต้นไป แต่ก็มีบางหลักที่ยังมีคำกำกับเฉพาะอยู่ มาลองไล่เปรียบเทียบกันดีกว่า

  • 十 shí || สิบ || 10
  • 一百 yì bǎi / 百 bǎi || หนึ่งร้อย / ร้อย || 100
  • 一千 yì qiān / 千 qiān || หนึ่งพัน / พัน || 1,000
  • 一万 yí wàn / 万 wàn || หนึ่งหมื่น / หมื่น || 10,000
  • 十万 shí wàn || หนึ่งแสน / แสน || 100,000
  • 一百万 yì bǎi wàn / 百万 bǎi wàn || หนึ่งล้าน / ล้าน 1,000,000
  • 一千万 yì qiān wàn / 千万 qiān wàn || สิบล้าน / หนึ่งโกฎิ || 10,000,000
  • 一亿 yí yì / 亿 yì || หนึ่งร้อยล้าน / ร้อยล้าน || 100,000,000
  • 十亿 shí yì || หนึ่งพันล้าน / พันล้าน || 1,000,000,000
  • 一百亿 yì bǎi yì / 百亿 bǎi yì || หนึ่งหมื่นล้าน / หมื่นล้าน || 10,000,000,000

เพิ่มเติม:

  • ยังมีคำสำหรับตัวเลขที่มากกว่านี้ แต่มักจะใช้ในด้านวิทยาศาสตร์ เช่น 10ยกกำลัง21 zetta- 泽 zé หากอยากรู้เพิ่มเติมไว้แอดมินสรุปมาให้ครับ
Chinese letters to write for finance and cheque

大写数字 ตัวเลขที่นิยมใช้สำหรับระบบการเงิน

สำหรับผู้เริ่มต้นเรียนภาษาจีนคงจะคุ้นเคยกับรูปแบบทั่วไปหรือ 小写 xiǎo xiě กับมากกว่า แต่สำหรับการเขียนตัวเลขที่เป็นทางการ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับเอกสารทางการเงินแล้วคนจีนจะใช้ตัวเลขรูปแบบ 大写 dà xiě กันแทน แม้จะเขียนไม่เหมือนกัน แต่การอ่านออกเสียงเหมือนกันนะครับ

คำถามสำคัญ แล้วทำไมไม่ใช้รูปแบบ 小写 ไปทั้งหมดเลยล่ะ? ลองคิดตามดูนะครับว่าหากเราเขียนจำนวนเงิน 10,000 元 yuán จะต้องเขียน 一万元整 (整 zhěng ลงท้าย เหมือนเวลาเราเขียนคำว่า ถ้วน ในภาษาไทย) ก็ดูง่ายดีใช่ไหมครับ แต่ถ้าคนที่รับเอกสารสัญญานั้น หรือ เช็กไป เติมสักขีดหนึ่งที่ 一 ให้กลายเป็น 十万 ขึ้นมาทีหลัง เท่ากับเราต้องจ่ายเงินเขา 100,000 人民币 ทันที แค่คิดก็ขนลุกแล้วเลยเป็นที่มาของการเขียนตัวอักษรแบบ 大写 เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกแก้ไขในภายหลัง 10,000 แทนที่จะเขียน 一万元整 เลยต้องเขียนเป็น 壹万元整 เอาล่ะ มาดูกันดีกว่าว่ารูปแบบนี้มีอะไรบ้าง

  • 〇 เขียนเป็น 零
  • 一 เขียนเป็น 壹
  • 二(两) เขียนเป็น 贰
  • 三 เขียนเป็น 叁
  • 四 เขียนเป็น 肆
  • 五 เขียนเป็น 伍
  • 六 เขียนเป็น 陆
  • 七 เขียนเป็น 柒
  • 八 เขียนเป็น 捌
  • 九 เขียนเป็น 玖
  • 十 เขียนเป็น 拾
  • 百 เขียนเป็น 佰
  • 千 เขียนเป็น 仟
  • 万 เขียนเหมือนกันทั้ง 2 รูปแบบ
  • 亿 เขียนเหมือนกันทั้ง 2 รูปแบบ

จำไม่ได้ เขียนไม่เป็น ไม่เป็นไร ลองพิมพ์ตัวเลขบนเว็บนี้แล้วดูๆ ก็ได้ครับ https://szjrzzwdxje.bmcx.com/

History of Chinese Pinyin - many systems before pinyin

天干 ใช้เรียกนาย ก นามสมมติ หรือเรียงลำดับ แบ่งส่วน ก็ได้

รูปแบบ 天干 tiāngān เป็นส่วนหนึ่งของ 干支 gānzhī แผนภูมิสวรรค์ ระบบเลขฐาน 60ของจีนซึ่งมีมาตั้งแต่โบราณ (อ่านคำอธิบายเกี่ยวกับ 干支 ได้ในเพิ่มเติมด้านล่าง) อ่านแล้ว ดูศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาทันที ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมและความเชื่อ แต่ก็นิยมใช้ในสถานการณ์อื่นๆ ที่เป็นทางการด้วยเช่นกัน

天干 นั้นใช้ในหลายกรณี ยกตัวอย่างที่เห็นบ่อยๆ ได้แก่

  • การแบ่งส่วนในเอกสารทางกฎหมาย เอกสารทางการ และ สัญญา เพื่อแทนการอ้างอิง หรือหัวข้อ เช่น ”ภาคผนวก ก“ ก็ใช้ว่า 附录甲
  • แทนนามสมมติ เหมือนเราเรียก คนเดินถนนคนที่ 1 จะเรียกว่า 路人甲 lùrén jiǎ
  • ตัวเลือกในข้อสอบหรือแบบสำรวจ ก ข ค ง เป็น 甲 jiǎ, 乙 yǐ, 丙 bǐng, 丁 dīng
  • ระบุสายพันธ์ุโรค 甲型肝炎 jiǎxínggānyán ไวรัสตับอักเสบ สายพันธุ์เอ 乙型肝炎 yǐxínggānyán ไวรัสตับอักเสบ สายพันธุ์บี
  • ระบุส่วนของการแข่งขันกีฬา Serie A ใช้ 意甲 yìjiǎ

天干 มีทั้งหมด 10 ลำดับ ไล่ตามลำดับดังนี้

  1. 甲 jiǎ
  2. 乙 yǐ
  3. 丙 bǐng
  4. 丁 dīng
  5. 戊 wù
  6. 己 jǐ
  7. 庚 gēng
  8. 辛 xīn
  9. 壬 rén
  10. 癸 guǐ

เพิ่มเติม:

  • 干支 gānzhī คือระบบเลขฐาน 60 ซึ่งไล่ประวัติไปได้ถึงสมัยราชวงศ์ซฺาง (商代 Shāng dài) ซค่งเป็นราชวงศ์ที่เก่าแก่ที่สุดที่มีได้มีการบันทึกในปัจจุบัน เป็นตัวเลขอักษรจีนวนรอบ ประกอบดัวย 2 ส่วน 天干 tiāngān ภาคสวรรค์ 10 ตัวอักษร และ 地支 dìzhī ภาคปฐพี 12 ตัวอักษร ใช้ในการนับวันและปีแบบดั้งเดิม หากเคยได้ยิน ปีนักษัตรหมูทอง ก็ไล่มาจากระบบนี้ 干支 เป็นหลักสำคัญในโหราศาสตร์จีน และ ยังใช้ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกอื่นๆ ด้วยเช่นกัน อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ 干支 ได้ที่: https://th.wikipedia.org/wiki/แผนภูมิสวรรค์

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว คงพอจะเห็นภาพรวมของรูปแบบตัวเลขในภาษาจีนกันบ้างแล้วนะครับ ถ้าคนที่เพิ่งเริ่มเรียนรู้สึกว่ายากเกินไปไม่ต้องตกใจนะ อย่าง 天干 กว่าจะได้เจอก็ระดับ HSK5 เลยแหละ ถึงตอนนั้นภาษาจีนก็คล่องแคล่วแล้ว

บทความเกี่ยวกับตัวเลขเพิ่มเติม


มีเรื่องไหนอยากให้มาเล่า มาพูดคุยกัน หรือ ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับจีนและภาษาจีน ได้ที่ตามนี้เลย


อ้างอิง