อัญมณีเป็นสิ่งที่มนุษย์ให้คุณค่าจากความงดงามมาตั้งแต่โบราณ แต่รู้ไหมนอกจากแค่ความงดงามของหินมีค่าเหล่านี้แล้วยังแฝงความเชื่อในเรื่องโชคลางมาโดยตลอด และ ในปัจจุบันก็ยังคงแฝงอยู่ในรูปแบบของการตลาดต่างๆ อยู่อีกมากมาย
ในฝั่งตะวันตกจะนิยมอัญมณีที่มีความใส สวยงามอย่างที่เรารู้จักกันดีในปัจจุบัน เช่น เพชร ทับทิม ไพลิน มรกต เป็นต้น และได้พัฒนามาเป็นความเชื่อเรื่องอัญมณีตามเดือนเกิด ในขณะที่ฝั่งจีนนิยมหยกเป็นหลักและพัฒนามาเป็นเครื่องหมายของอำนาจ คุณธรรม และ สิ่งมงคลจากสวรรค์ ความแตกต่างนี้มีข้อสันนิษฐานว่าเกิดจากแร่ต่างๆ ในดินที่แตกต่างกันตั้งแต่โบราณ และ การเดินทางค้าขายยังไม่ได้สะดวกแบบในปัจจุบัน ในบทความนี้เราจะมาเล่ากันถึงมีมาของการพัฒนาความเชื่อ ลักษณะของอัญมณี พร้อมกับคำศัพท์ภาษาจีนที่เกี่ยวข้องไปด้วยเลย
มาเริ่มกันดีกว่า!
欧美的宝石 จากหินเพื่อการสื่อสารกับพระเจ้า สู่อัญมณีตามเดือนเกิด
อัญมณีในโลกฝั่งตะวันตกได้ถูกใช้มาตั้งแต่สมัยโบราณทั้งในอารยธรรมอียิปต์ เมโสโปเตเมีย ไล่มาจนถึงกรีก และโรมัน แต่ที่ดูจะเป็นตำนานที่พัฒนามาสู่อัญมณีตามเดือนเกิดมากที่สุดคงจะหนีไม่พ้น เรื่องราวจากพระคัมภีร์เก่าในศาสนาคริสต์ (Exodus 28:16-20)
เรื่องราวนี้จากการคาดการณ์ของนักโบราณคดี คาดว่าเกิดขึ้นในช่วง 600 – 400 ก่อนคริสตกาล ซึ่งได้มีการบันทึกไว้ว่าอารอน (Aaron) พี่ชายของโมเสส (Moses ใช่ครับ โมเสสที่เราคุ้นเคยกันในเรื่องใช้ไม้เท้าแหวกทะเลเพื่อไปสู่ดินแดนใหม่) อารอนเป็นมหาปุโรหิตแห่งอิสราเอล เมื่อเขาจะสื่อสารกับพระเจ้า จะต้องสวมแผ่นอัญมณีที่ประดับด้วยอัญมณี 12 ชนิด (THE BREASTPLATE OF AARON) ซึ่งเชื่อกันว่าอัญมณีทั้ง 12 ชนิดนี้ เป็นตัวแทนของคุณสมบัติต่างๆ ที่สามารถใช้สื่อสารกับพระเจ้าได้
อย่างไรก็ตาม การจะระบุว่าอัญมณีทั้ง 12 ชนิด คืออะไรบ้าง ถือเป็นเรื่องปวดหัวที่ในปัจจุบันก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างแน่ชัด ในสมัยโบราณวิทยาการยังไม่ได้ก้าวหน้า การแยกชนิดของอัญมณีจะทำการแยกจากสิ่งที่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า หรือ พิสูจน์ได้ง่าย เช่น สี ลักษณะ สิ่งที่ปนอยู่ในเนื้อหิน เป็นต้น
ไอเดียจากอัญมณีทั้ง 12 ชนิดนี้ ได้ถูกพัฒนามาเรื่อยๆ นักแต่นั้นเป็นต้นมา ในช่วงประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 5 นักบุญเจอโรม (St. Jerome) ได้เริ่มใช้อัญมณีทั้ง 12 ชนิดมาเป็นตัวแทนในแต่ละเดือน แต่รายการอัญมณีก็ยังต่างจากปัจจุบันอยู่มาก
จนต่อมาเมื่อวิทยาศาสตร์เริ่มก้าวหน้า มนุษย์สามารถแยกแยะคุณสมบัติทางเคมีของอัญมณีแต่ละชนิดได้ จนได้เริ่มเห็นว่าอัญมณีสีเดียวกัน อาจจะเป็นอัญมณีคนละชนิดกันเลยก็ได้ และได้เริ่มมีการแยกแยะอัญมณีทั้ง 12 ชนิดในพระคัมภีร์มาอยู่เรื่อยๆ
จนกระทั่งประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 17 จึงเริ่มมีแนวคิดการใช้อัญมณีตามเดือนเกิด และในปี ค.ศ. 1912 American National Jewelers’ Association ได้สรุปรวบรวมรายการอัญมณีตามเดือนเกิดในแต่ละเดือน แต่ก็ยังคงมีการแก้ไขเล็กๆ น้อยๆ มาเรื่อยๆ โดยเพิ่ม 坦桑石 (tǎnsāngshí | แทนซาไนต์ | Tanzanite) มาในปี ค.ศ. 2002 และ 尖晶石 (jiānshuǐjīng | สปิเนล | Spinel) ในปี ค.ศ. 2016
ในความเชื่อและตำนานของฝั่งตะวันตก อัญมณีต่างๆ จะมีพลังงานหรือเวทมนตร์ ซึ่งยังเห็นอิทธิพลเหล่านี้ได้ในละครหรือภาพยนตร์อยู่ เช่น หมอดูยิปซีใช้ลูกแก้วหรือผลึกในการทำนายอนาคต และ การตกแต่งดาบด้วยอัญมณีเพื่อเพิ่มพลัง การสวมอัญมณีเพื่อโชคลาภ หรืออย่าง Infinity Stones ใน Avengers ก็ถือว่าได้รับอิทธิพลจากแนวคิดนี้ด้วย
นอกจากนี้อัญมณียังเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจ และสถานะทางสังคม โดยเราจะเห็นได้จากการตกแต่งมงกุฎ เครื่องแต่งกายต่างๆ อีกด้วย
อัญมณีในแต่ละเดือนมีอะไรบ้าง อ่านกันต่อได้ในส่วนต่อไปเลย
欧美的生辰石 อัญมณีประจำเดือนเกิด
จากความเชื่อฝั่งตะวันตกในปัจจุบัน เชื่อว่า 生辰石 (shéngchénshí | อัญมณีตามเดือนเกิด) มีพลังและเครื่องรางของขลังประโยชน์ในด้านการรักษาอย่างที่เราเคยได้ยินเรื่องการใช้หินบำบัดต่างๆ ซึ่งเป็นความเชื่อที่มีการพัฒนามาเรื่อยๆ ตลอดประวัติศาสตร์
ในปัจจุบันนิยมใช้รายการอัญมณีตามเดือนเกิดของ American National Jewelers’ Association เนื่องจากความเชื่อต่างๆ มีหลากหลายสำนัก จึงขออธิบายลักษณะของอัญมณีแต่ละชนิดเท่านั้น หากสนใจอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องความเชื่อสามารถอ่านได้ที่อ้างอิงครับ
1月|石榴石 (shíliúshí | โกเมน | Garnet)
石榴石 หรือ โกเมน ชื่อในภาษาละติน คือ Granatus หรือ Granatum ซึ่งแปลว่าเหมือนเมล็ด จากลักษณะที่พบคือเป็นเม็ดสีแดงอยู่ในหินดูแล้วคล้ายเมล็ดของผลทับทิมนั่นเอง 石榴石 เป็นพลอยที่มีหลากหลายสี ตั้งแต่ สีแดงก่ำ สีชมพู สีเขียว สีส้ม สีน้ำตาล เป็นอัญมณีที่นิยมนำมาทำเป็นเครื่องประดับตั้งแต่โบราณ
2月|紫水晶 (zǐ shuǐjīng | แอเมทิสต์ | Amethyst)
紫水晶 หรือ ****แอเมทิสต์ เป็นอัญมณีสีม่วงคราม แอเมทิสต์ที่มีความใสสะอาดนิยมนำมาเจียระไนแบบต่างๆ นำมาแกะสลัก หรือใช้วางเป็นของประดับตกแต่งได้โดยไม่จำเป็นต้องเจียระไนเนื่องจากมีลักษณะผลึกที่สวยงามตามธรรมชาติจึงสามารถ
3月|海蓝宝石 (hǎilái bǎoshí | อะความารีน | Aquamarine)
海蓝宝石 หรือ อะความารีน เป็นอัญมณีชนิดหนึ่งในประเภทเบริล (Beryl) มีสีฟ้าอมเขียวถึงสีฟ้า-เขียว อะความารีนมาจากภาษาละติน “Aqua” แปลว่า น้ำ “Mare” แปลว่า ทะเล เลยเป็นที่มาของชื่อเรียกจากลักษณะของสีที่พิเศษนี้
4月|钻石 (zuànshí | เพชร | Diamond)
钻石 หรือ เพชร คำว่า “Diamond” นั้นมีรากศัพท์มาจากภาษากรีกว่า “Adamas” มีความหมายว่า ไม่มีใครเอาชนะได้ หรือไม่เคยแพ้ใคร ชื่อนี้มีที่มาจากความแข็งแรงของเพชรที่เป็นแร่มีความแข็งมากที่สุด
เพชรในธรรมชาติมีได้หลายสีที่พบมากคือ ตั้งแต่ไม่มีสี จนถึงค่อนข้างเหลือง สำหรับเพชรที่มีสีสวยงาม เช่น สีน้ำเงิน ชมพู แดง หรือเหลืองสด จัดเป็นเพชรสีแฟนซีซึ่งหายากและมีราคาแพง แต่ที่นิยมนำมาใช้ทำเครื่องประดับโดยทั่วไป จะไม่มีสีไปจนถึง ค่อนข้างเหลืองอ่อน และยังเป็นหนึ่งในอัญมณีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลกทั้งในการทำเครื่องประดับ และ หัวขุดเจาะอีกด้วย
5月|祖母绿 (zǔmǔ lǜ | มรกต | Emerald)
祖母绿 หรือ มรกต เป็นหนึ่งในประเภทพลอยเบริลที่มีสีเขียว เป็นพลอยที่ไม่ค่อยใส แต่เป็นที่นิยมมากกว่าพลอยเบริลชนิดอื่นๆ จากสีเขียวสดที่สวยงามและหาที่มีคุณภาพดียาก จึงทำให้มรกตมีราคาสูงกว่าเบริลชนิดอื่น บางเม็ดที่มีคุณภาพดีราคาอาจใกล้เคียงกับเพชร
6月|珍珠 (zhēnzhū | ไข่มุก | Pearl) หรือ 变石 (biànshí | เจ้าสามสี | Alexandrite)
珍珠 หรือ ไข่มุก เกิดในเนื้อของหอยมุกซึ่งเป็นหอยสองฝามีทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม โดยปกติมุขจะมีสีขาวเหลือบสีรุ้งเล็กน้อยจนถึงขาวนวล แต่ก็มีสีอื่น ๆ อีกเช่น ชมพู เงิน ครีม ทอง เหลือง เทา และดำ เป็นต้น โดยจะขึ้นอยู่กับชนิดของหอยมุก น้ำ และสภาวะแวดล้อมในบริเวณที่หอยมุกอยู่อาศัย
变石 หรือ อะเลกซานไดรต์ เป็นหินตระกูลเดียวกับ คริโซเบริล (chrysoberyl) แต่งตั้งตามชื่อ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 2 แห่งรัสเซีย เพราะค้นพบในสมัยนั้น สามารถเปลี่ยนสีได้ ขึ้นกับแสงที่ตกกระทบ ในภาษาไทยเรียกอีกชื่อว่า ‘เจ้าสามสี’ ลักษณะของสีคือ มีสีเขียวอมน้ำตาลตอนกลางวัน แต่สามารถเปลี่ยนเป็นสีแดงอมม่วงได้ เมื่อได้รับแสงจากหลอดไฟ และเปลี่ยนเป็นสีแดง เมื่อได้รับแสงแดด
7月|红宝石 (hóngbǎoshí | ทับทิม | Ruby)
红宝石 หรือทับทิมเป็นพลอยคอรันดัมที่มีสีแดงจนถึงสีม่วงแดง ทับทิมได้รับการขนานนามว่าเป็น ราชาแห่งอัญมณี คำว่า “Ruby” มาจากคำว่า “Ruber” ในภาษาละติน ซึ่งมีรูปเดิมว่า “Rubinus” แปลว่า สีแดง
ทับทิมจัดเป็นพลอยชนิดหนึ่งที่มีการปรับปรุงคุณภาพแพร่หลายและเป็นที่ยอมรับกันในท้องตลาด การปรับปรุงคุณภาพของทับทิมส่วนใหญ่จะใช้วิธีการปรับปรุงคุณภาพด้วยความร้อน เพื่อเป็นการกำจัดสีเจือปนที่ไม่ต้องการ รวมทั้งทำให้เนื้อพลอยมีความใสสะอาดมากขึ้น
8月|橄榄石 (gǎnlǎnshí | เพอริโด | Peridot) หรือ 尖晶石 (jiānshuǐjīng | สปิเนล | Spinel)
橄榄石 หรือ เพอริโด มาจากภาษาฝรั่งเศส เป็นแร่โอลิวีทที่มีสีเขียวมะกอก บางทีจะเรียนว่ามรกตราตรี สีที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ สีเขียวใสบริสุทธิ์หรือติดสีอื่นน้อยที่สุด เพอริโดมักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นมรกตในกลุ่มของพลอยเบอริลอยู่เสมอ เนื่องมาจากสีที่ดูคล้ายกัน
尖晶石 หรือ สปิเนล เป็นพลอยเนื้ออ่อน มีหลากหลายสีได้แก่ สีแดง ชมพู น้ำเงิน ฟ้า ม่วง เหลือง ใส น้ำตาล ดำ ในบรรดาสีทั้งหมด สีแดง เป็นสีที่มีมูลค่าสูงสุดแต่ก็ยังมีราคาถูกกว่าทับทิม และมักสับสนกับทับทิมด้วย
9月|蓝宝石 ( lànbǎoshí | ไพลิน | Blue Sapphire)
蓝宝石 หรือ ไพลิน เป็นแร่ในประเภท (Species) คอรันดัม (Corundum) เช่นเดียวกับทับทิม ปัจจุบันหากพูดถึงแซฟไฟร์ “Sapphire” คำเดียวหมายถึง Blue Sapphire หรือ ไพลิน แต่ในความเป็นจริงพลอยคอรันดัมประเภท Sapphire มีได้หลากสี พลอยคอรันดัมชนิดอื่นที่ไม่ใช่ไพลิน (Blue Sapphire) ได้แก่ Yellow Sapphire (บุษราคัม) , Green Sapphire (เขียวส่อง) , Pink Sapphire (พลอยแซปไฟร์สีชมพู) เป็นต้น
ไพลินยังถือเป็นยังนิยมมอบเป็นของขวัญให้แก่กันในโอกาสครบรอบการแต่งงานในปีที่ 5, 15, 23 และ ปีที่ 45 อีกด้วย
10月|欧泊 (ōubó | โอปอล | Opal) หรือ 碧玺 (bìxǐ | ทัวร์มารีน | Tourmaline)
欧泊 หรือ โอปอล จัดเป็นแร่ในตระกูลควอรตซ์ชนิดหนึ่ง มหลายชนิด แต่ที่นิยมมากที่สุดจะเป็นกลุ่ม Precious opal ซึ่งมีการเล่นสีคล้ายเหลือบประกายรุ้งที่เปลี่ยนสีได้เมื่อหมุนพลอยไปมาในทิศทางที่ต่างกัน เรียกปรากฏการณ์พิเศษนี้ว่า โอปอเลสเซนต์ (Opalescence) หรือ การเล่นสี (Play of colour)
碧玺 หรือ ทัวร์มารีน เป็นพลอยเนื้ออ่อน เป็นแร่ในกลุ่มซิลิเกต พบได้หลายสีตั้งแต่ แดง เขียว เขียวแกมฟ้า น้ำเงิน เป็นต้น
11月|托帕石 (tuōpàshí | โทแพซ | Topaz) / 黄水晶 (huángshuǐjīng | ซิทริน | Citrine)
托帕石 หรือ โทแพซ เป็นพลอยอีกชนิดที่พบได้หลากหลายสีมากๆ เป็นแร่ซิลิเกตที่ประกอบด้วยอลูมิเนียมและฟลูออรีน สีที่นิยมมากที่สุดเป็นสีเหลืองซึ่งแต่เดิมคนไทยมักจะใช้เรียกว่า บุษราคัม จนภายหลังนิยมไปใช้เรียก Yellow Sapphire แทน เลยเปลี่ยนมาใช้เรียกว่า พลอยโทแพซ
黄水晶 หรือ ซิทริน เป็นพลอยเนื้ออ่อนกลุ่มแร่ควอตซ์ มีสีอยู่ในกลุ่มสีเหลืองและมักสับสนกับบุษราคัม อยู่บ่อยๆ
12月|绿松石 (lǜsōngshí | เทอร์ควอยซ์ | Turquoise) หรือ 坦桑石 (tǎnsāngshí | แทนซาไนต์ | Tanzanite)
绿松石 หรือ เทอร์ควอยซ์ พลอยสีขี้นกการเวก จัดเป็นอัญมณีประเภทหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักและมีการใช้กันอย่างแพร่หลายนับตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ (3000 ก่อนคริสตกาล) และในแถบอเมริกาใต้ เป็นอัญมณีที่มีสีฟ้า ถึงสีฟ้าอมเขียว จากการผสมกันของแร่ธาตุ
坦桑石 หรือ แทนซาไนต์ เป็นพลอยเนื้ออ่อนกลุ่มแร่ซอยไซต์ (Zoisite) มีสีน้ำเงินแกมม่วง แกมเขียว หรือ แกมน้ำตาล ซึ่งเปลี่ยนได้จากทิศทางต่างๆของผลึก พบครั้งแรกในประเทศแทนซาเนีย
中国的玉石 จากหินเพื่อการใช้งานสู่ความหมายแห่งคุณธรรมและอำนาจ
ในประเทศจีน อัญมณีตามแบบตะวันตกเพิ่งจะได้รับความนิยมมาในช่วงไม่นานนี้ แต่เดิมอารยธรรมจีนมี 玉 (yù | หยก) เป็นศูนย์กลางของหินมีค่าในอารยธรรมไม่ได้เพียงเพราะความสวยงามเท่านั้น แต่ยังได้ถูกเพิ่มคุณค่าทางสังคม และอำนาจอีกด้วย
เมื่อเทียบกับ 宝石 ที่แวววับโดดเด่นและเปร่งประกายแล้ว 玉石 (yùshí | หยก) มองแล้วดูเยือกเย็น นุ่มนวลมากกว่า แม้จะไม่แวววับเท่าแต่ก็ยังคงงดงามไม่แพ้กัน
ในอารยธรรมจีนโบราณยุคแรกๆ 玉石 ถูกนำมาใช้ในบริบทต่างๆ จากเครื่องใช้เพื่อบุคคลสำคัญ เช่น มีดหยก พลั่วหยก ซึ่งมีมาตั้งแต่ 商朝 (Shāngcháo | ยุคราชวงศ์ซาง 1600-1046 ก่อน ค.ศ.) หรือเก่ากว่านั้น และได้ถูกพัฒนาความสำคัญเพิ่มขึ้นมาจนกลายเป็นสิ่งบ่งบอกสถานะทางสังคม และอำนาจ และได้ถูกนำมาใช้ในบริบททางพิธีกรรมจากความเชื่อว่า 玉石 เป็นสิ่งที่มาจากสวรรค์
ใน 《礼记》 (Lǐjì) ขงจื๊อ (孔子 | Kǒng zǐ) ได้มีการกล่าวว่าหยกเป็นสัญลักษณ์แห่งคุณธรรมทั้ง 11 ประการ สิ่งนี้ยิ่งทำให้ 玉石 ผูกพันกับอารยธรรมจีนแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นจนไม่สามารถแยกขาดจากกันได้ และพัฒนาเป็นสิ่งที่อยู่ในวิถีชีวิตทั้งในแง่ของสิ่งของมีค่า เครื่องบวงสรวง การใช้คุ้มครองวิญญาณหลังความตาม การใช้แสดงยศถาบรรดาศักดิ์ ให้เป็นของกำนัล หรือแม้กระทั่งใช้เป็นยาอีกด้วย
ในแง่ของภาษาเรายังเห็นแง่ที่นำ 玉石 มาเป็นเป็นสิ่งเปรียบเทียบกับความสะอาด บริสุทธิ์ สูงส่งได้ เช่น
- 冰清玉洁 | bīngqīng yùjíe | แปลตรงๆว่า “ใสเหมือนน้ำแข็งและสะอาดเหมือนหยก” เป็นคำพูดภาษาจีนที่หมายถึงใครบางคนที่บริสุทธิ์และสูงส่ง
- 亭亭玉立 | tíngtíng yùlì | เป็นวลีที่ใช้อธิบายบางสิ่งบางอย่างหรือคนที่มีความยุติธรรมและสง่างาม
- 玉女 | yùnǚ | แปลว่าหญิงหยกเป็นคำที่ใช้เรียกผู้หญิงหรือสาวสวย
หรือแม้กระทั่งเง็กเซียนฮ่องเต้ ประมุขสวรรค์ของทางลัทธิเต๋าที่เราเคยชินกันในภาษาแต้จิ๋วก็ยังมีคำว่า 玉 อยู่ในชื่อ หากเขียนเป็นอักษรจีนออกมาจะได้ดังนี้ 玉皇大帝 (Yǔhuáng dàdì) นิยมเรียกสั้นๆ ว่า 玉帝
นอกจากนี้ ชาวจีนยังเชื่อกันอีกว่าหยกมีอำนาจคุ้มครองผู้สวมใส่ให้พ้นจากสิ่งชั่วร้าย เป็นเครื่องรางบอกเหตุได้ว่าผู้สวมใส่กำลังมีโชคหรือมีเคราะห์อย่างไร สังเกตได้จากสีของหยก หากหยกมีสีสันสดใส นั่นก็หมายความว่า เจ้าของหยกกำลังจะมีโชค แต่ถ้าหากหยกมีสีหมองลงหรือมองเห็นรอยแตกร้าวชัดขึ้นก็แปลว่า เจ้าของหยกกำลังจะมีเคราะห์มาเยือน หยกที่ชาวจีนใช้เป็นเครื่องรางมักจะแกะสลักเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ เช่น ปลา เต่า จิ้งหรีด หน้าเสือ
หยกในทางอัญมณีศาสตร์จะแบ่งอย่างไร อ่านต่อได้เลย
玉石的分类 ประเภทของหยก
玉石 ต่างจาก 宝石 อื่นๆ ตรงที่เป็นสารประกอบของแร่ธาตุหลายชนิด ในทางอัญมณีศาสตร์จะแบ่งออกตามสเกลความแข็งของโมส์ (Mohs scale) เป็นสองแบบใหญ่ๆ ได้แก่
- 硬玉 | yìngyù | หยกแข็ง หรือ Jadeite ค่าความแข็งตามสเกลของโมส์อยู่ที่ 6.5-7 硬玉 ราคาจะสูงกว่า 软玉 มักจะถูกเรียกว่า 翡翠 fěicuì อีกด้วย ตัวอย่างที่เป็นที่รู้จัก ได้แก่ 缅甸翡翠 (Miǎndiàn fěicuì | หยกพม่า) พบได้ที่ พม่า ญี่ปุ่น เป็นต้น
- 软玉 | ruǎnyù | หยกอ่อน หรือ Nephrite ค่าความแข็งตามสเกลของโมส์อยู่ที่ 6-6.5 แม้ 玉 หรือ 玉石 จะเป็นคำเรียกรวมๆ ของหยก แต่ถ้าหากให้ระบุเจาะจง 玉 จะหมายถึง 软玉 มากกว่า 软玉 เป็นกลุ่มที่พบได้ในประเทศจีนมาตั้งแต่โบราณ และ ยังพบได้ในอีกหลายประเทศทั่วโลก ตัวอย่างที่มีชื่อเสียงในกลุ่มนี้ได้แก่ 和田玉 (Hétiān yù) บางครั้งก็ใช้เป็นชื่อเรียกรวมของ 软玉 ไปด้วยเหมือนกัน
玉石 ไม่ได้มีเพียงแค่สีเขียว ยังมีสีอื่นๆ อีกมากมาย เช่น สีขาว ม่วง แดง เหลือง ใส ฟ้า น้ำตาล ตามแต่แร่ที่เจือปนอยู่ ในวัฒนธรรมจีน ยังคงมีการนำไปใช้สลักพระพุทธรูป หรือเครื่องประดับไว้พกติดตัวรูปแบบต่างๆ อีกด้วย เช่น 璜 (huáng | หยกรูปจันทร์เสี้ยว) 、佩 (pèi | หยกที่ไว้ห้อยเสื้อผ้าสมัยโบราณ)、珠坠 (zhūzhuì | หยกทรงกลมใช้แขวน เป็นจี้บ้าง กำไลบ้าง)
รายละเอียดเชิงลึกเกี่ยวกับหยกในทางอัญมณีศาสตร์ สามารถดูได้ที่คลิปนี้ (ภาษาจีนระดับ HSK 5-6)
แต่ละอารยธรรมได้พัฒนาสิ่งที่นิยมตามสิ่งที่เอื้ออำนวยในด้านภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม และทรัพยากร ทำให้เราได้เห็นความหลากหลายทางวัฒนธรรม อัญมณีก็เป็นอีกอย่างที่ทำให้เราเห็นแนวคิดเกี่ยวกับการเลือกสิ่งที่ชอบของจีนและตะวันตก ไปจนถึงการผูกเข้ากับสิ่งสำคัญเช่นความเชื่อ การปกครอง การใช้ชีวิต
ยังมีอีกหลายเรื่องที่หากเราได้ศึกษาลงไปอาจจะประหลาดใจกับแนวคิดต่างๆ ซึ่งสุดท้ายสามารถทำให้เราเข้าใจการใช้ภาษามากยิ่งขึ้น
สำหรับเรื่อง 宝石 และ 玉石 ยังมีอีกหลายประเด็น หากแฟนเพจคนไหนสงสัย หรือ รู้ส่วนไหนที่สามารถเสริมให้เข้าใจเรื่องราวได้ดียิ่งขึ้น ยังไงทักมาคุยกันได้เลยนะครับ
ติดตามเรื่องราวภาษาจีนย่อยง่ายๆ ด้วยภาพ หรือมีเรื่องอะไรเกี่ยวกับภาษาจีน มาคุยกันได้ที่
ภาพจาก
- https://www.gia.edu/
- https://www.stonemania.co.uk/glossary/articles-g-i/high-priest-breastplate-1
- http://m.zhuoyixuan.com/article.php?id=16708
อ้างอิง
- https://www.youtube.com/watch?v=PWmHcceiNlE
- https://www.youtube.com/watch?v=G2bUewgnqhg
- https://baike.baidu.com/item/玉皇大帝/146964
- https://zhuanlan.zhihu.com/p/22265655
- https://www.arsomsiam.com/chinese-jade/
- http://m.zhuoyixuan.com/article.php?id=9503
- http://m.zhuoyixuan.com/article.php?id=16708
- http://www.ec-gems.com.cn/culture/yuqiwenhua.html
- https://www.zhihu.com/question/28187523
- http://www.krukaychinese.com/2018/09/27/สี่หยกดัง/
- https://www.gemporia.com/en-gb/gemology-hub/article/631/a-history-of-birthstones-and-the-breastplate-of-aaron/
- https://www.vogue.com/article/meaning-history-gemstones-rubies-emeralds-diamonds
- https://www.forgejewelryworks.com/birthstones-and-the-myths-and-meanings-surrounding-them/
- https://adaymagazine.com/diamond-ring-with-marriage
- https://www.gemporia.com/en-gb/gemology-hub/article/631/a-history-of-birthstones-and-the-breastplate-of-aaron/
- https://www.geminlove.com/book/อัญมณี-ประจำ-เดือนเกิด
- https://www.pembagems.com/article/52/อัญมณีประจำเดือนเกิด-เลือกให้ถูกโฉลกใครว่าไม่สำคัญ
- https://www.pembagems.com/article/24/รู้จริงเรื่อง-แทนซาไนต์tanzanite
- https://www.git.or.th/turquoise.html
- https://www.pembagems.com/category/99/อัญมณี-gems/พลอยซิทริน-อัญมณีเขี้ยวแก้วหนุมาน
- https://www.pembagems.com/article/26/รู้จริงเรื่อง-พลอยโทแพซtopaz
- https://www.pembagems.com/article/25/รู้จริงเรื่อง-ทัวร์มาลีนtourmaline
- https://www.git.or.th/opal.html
- https://www.git.or.th/blue_sapphire.html
- https://www.git.or.th/ruby.html
- https://th.wikipedia.org/wiki/อะเลกซานไดรต์
- https://www.git.or.th/pearl.html
- https://www.git.or.th/emerald.html
- https://www.git.or.th/diamond.html
- https://www.git.or.th/aquamarine.html
- https://www.git.or.th/amethyst.html
- https://www.git.or.th/peridot.html
- https://www.pembagems.com/article/23/รู้จริงเรื่อง-โกเมนgarnet
- https://www.pembagems.com/article/22/รู้จริงเรื่อง-สปิเนลspinel