ภาษาเป็นสิ่งที่ลื่นไหลมีการแลกเปลี่ยนกันตลอดเวลา เช่นเดียวกับภาษาไทยที่ได้รับอิทธิพลจากบาลีสันสกฤต เขมร จีน หรือแม้กระทั่งภาษาตะวันตก ในภาษาจีนเองก็มีคำเกิดขึ้นใหม่ๆ จากภาษาต่างประเทศให้เห็นกันอยู่ตลอด
แต่ด้วยเอกลักษณ์ของภาษาจีนกลางที่มีเสียงน้อยกว่าภาษาอื่นๆ แถมยังไม่สามารถเขียนเป็นตัวสะกดได้เหมือนภาษาที่ใช้อักษรแทนเสียง เช่น ภาษาอังกฤษ ไทย แล้วภาษาจีนมีวิธีการทับศัพท์คำเหล่านี้กันอย่างไร มาหาคำตอบไปด้วยกันในบทความนี้เลย
ภาษาจีนเอกลักษณ์ที่น่าสนใจ เขียนเป็นอักษรภาพ เสียงน้อย
ภาษาจีนเรียกคำทับศัพท์ว่า 外来语 (wàiláiyǔ) หรือ 借词 (jiècí) เช่นเดียวกับภาษาทางเอเชียตะวันออกหลายภาษาเป็นภาษาที่มีเสียงหรือพยางค์ที่เป็นไปได้ในการพูดน้อยกว่าเมื่อเทียบกับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ อย่างที่เราได้เห็นในตารางพินยินที่เรียนกันมาตั้งแต่พื้นฐาน ภาษาจีนกลางมีทั้งสระและพยัญชนะที่ผสมกันไม่ได้อยู่หลายตัว ตัวอย่างเช่น j, q, x ใช้กับ a ไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ยิ่งทำให้เสียงหรือพยางค์ที่เป็นไปได้น้อยลงไปกว่าภาษาอื่น
จากวิทยานิพนธ์ Linguistic Complexity and Information: Quantitative Approaches โดย Yoon Mi Oh ปี 2015 ของ the University of Lyon ได้ทำการวิจัยถึงจำนวนพยางค์ที่สามารถออกเสียงได้ในแต่ละภาษาและเป็นพยางค์ที่ออกเสียงกันจริงๆ ได้สรุปตัวเลขเพื่อเปรียบเทียบที่น่าสนใจไว้ขอยกบางส่วนมาดังนี้
- 英语 (Yīng yǔ | ภาษาอังกฤษ*) สามารถออกเสียงและเป็นเสียงที่ใช้จริงอยู่ที่ 6,949 พยางค์
- 普通话 (Pǔtōnghuà | ภาษาจีนกลางมาตรฐาน) สามารถออกเสียงและเป็นเสียงที่ใช้จริงอยู่ที่ 1,274 พยางค์
- 日语 (Rì yǔ | ภาษาญี่ปุ่น) สามารถออกเสียงและเป็นเสียงที่ใช้จริงอยู่ที่ 643 พยางค์
- 韩语 (Hán yǔ | ภาษาเกาหลี) สามารถออกเสียงและเป็นเสียงที่ใช้จริงอยู่ที่ 1,104 พยางค์
- 泰语 (Tài yǔ | ภาษาไทย) สามารถออกเสียงและเป็นเสียงที่ใช้จริงอยู่ที่ 2,438 พยางค์
- 越南语 (Yuènán yǔ | ภาษาเวียดนาม) สามารถออกเสียงและเป็นเสียงที่ใช้จริงอยู่ที่ 5,156 พยางค์
จากรายละเอียดตรงนี้เราพอจะเห็นได้ว่าภาษาจีนกลางมีเสียงน้อยกว่าภาษาไทย และ อังกฤษอย่างเห็นได้ชัด แถมเสียงที่มีก็ไม่สามารถสะกดได้เหมือนภาษาไทยที่ยังพอจะเลียนเสียงได้บ้าง ด้วยเหตุนี้ภาษาจีนจึงเป็นหนึ่งในภาษาที่มีคำพ้องเสียงมากที่สุดภาษาหนึ่ง การทับศัพท์เลยยิ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเป็นอย่างมาก ส่วนจะทับศัพท์อย่างไร เรามาต่อกันเลย
*ในวิทยานิพนธ์ได้ค้นคว้าเป็น British English | อ้างอิงอ่านได้ที่ท้ายบทความ
1. 音译 ทับศัพท์ให้เสียงคล้าย
หลักการนี้คล้ายกับภาษาอื่นๆ คือพยายามหาเสียงที่ใกล้เคียง แต่ด้วยเสียงที่จำกัด หลายๆครั้งพอทับศัพท์มาก็ฟังแล้วงงๆ เพราะเสียงได้แค่นี้จริงๆ รูปแบบที่เจอจะเจอได้ 4 แบบ ใหญ่ๆ ดังนี้
- รับมาแล้วพยายามเลียนเสียงอย่างเดียว เช่น 沙发 (shāfā | โซฟา)、纽约 (Niǔyuē | นิวยอร์ก)、苏打(sūdá | โซดา)、麦当劳 (Màidāngláo | แมคโดนัลด์)、可口可乐 (kěkǒukělè | โคคาโคล่า)
- เลียนเสียงและพยายามใส่ความหมายเดียวกันไปด้วย เช่น 幽浮 (yōufú | ยูเอฟโอ)、骇客 (hàikè | แฮกเกอร์)、基因 (jīyīn | gene)
- รับมาแล้วเลียนเสียงบางส่วน แล้วจบแค่นั้น มักพบได้กับคำศัพท์ด้านเคมี เช่น 氧 (Yǎng | ออกซิเจน (O))、钠 (Nà | โซเดียม (Na))、钙 (Gài | แคลเซียม (Ca))
- รับแล้วเลียนเสียงโดยนำตัวอักษรจีนโบราณมาใช้เลียนเสียง เช่น 鸸鹋 (Ér miáo| นกอีมู (Emu))、㺢㹢狓 (huò jiā pí | Okapi สัตว์ชนิดหนึ่งมีลายที่ขาคล้ายม้าลาย)
2. 意译与仿译 แปลความหมายเป็นจีน
รับคำมาแล้วแปลความหมายเป็นคำจีนในรูปแบบการสร้างคำใหม่ โดยไม่สนเรื่องเสียงเลย เจอได้ 2 รูปแบบใหญ่ๆ ดังนี้
- 意译 แปลเลยไม่สนใจพยางค์ ให้เข้าใจความหมายเป็นพอ เช่น 电脑 (diànnǎo | คอมพิวเตอร์)、互联网 (hùliánwǎng | อินเตอร์เน็ท)、
- 仿译 พยายามคงจำนวนพยางค์ไว้ด้วยและได้ความหมายด้วย เช่น 热狗 (règǒu | ฮอตด็อก)、黑板 (hēibǎn | กระดานดำ)
3. 音译加意译 ผสมทั้งเสียงคล้ายและความหมายไปด้วย
การทับศัพท์ยังมีการเอาทั้งข้อหนึ่งและข้อสองมารวมกันด้วย คือ ทำอย่างละครึ่ง ส่วนหนึ่งของคำจะเป็นการเลียนเสียง และอีกส่วนจะแปลความหมาย มักจะเห็นกลุ่มนี้กับการตั้งชื่อสถานที่หรือชื่อเมือง โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้คำ 东、西、南、北、大、小、新、旧 และยังพบได้ในชื่อแบรนด์ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น
- 新西兰 (Xīnxīlán | นิวซีแลนด์)
- 康桥 (Kāngqiáo | Cambridge)
- 星巴克 (Xīng bākè | Starbucks)
4. 音译加汉语部分 ทับศัพท์ให้เสียงคล้ายและเติมคำจีนเข้าไป
กลุ่มนี้คล้ายกับกลุ่มที่ 3 คือเป็นลูกผสม แต่ว่าแทนที่จะแปลแบบครึ่งๆ คราวนี้เลียนเสียงส่วนหนึ่ง แล้วเพิ่มตำจีนเพื่อให้เข้าใจความหมายเข้าไปด้วยเลย ซึ่งคำที่เพิ่มเข้ามาไม่จำเป็นต้องมีอยู่ในคำด้วย เพื่อให้เข้าใจได้มากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น
- 啤酒 (píjiǔ | เบียร์)
- 波罗球 (bōluóqiú | ลูกบอลโปโล)
- 卡片 (kǎpiàn | การ์ด)
- 摩托车 (mótuō chē | มอเตอร์ไซต์)
5. 直接汉字译入 รับคำมาจากภาษาที่ใช้อักษรจีนโดยตรง
ภาษาที่มีการใช้อักษรจีนโดยเฉพาะญี่ปุ่น ภาษาจีนจะรับมาทั้งคำแต่จะรับแค่ตัวอักษร เสียงอ่านจะอ่านแบบจีนแทนไม่สนใจการอ่านตามภาษาดั้งเดิม
- 经济 (jīngjì | เศรษฐกิจ)
- 科学 (kēxué | วิทยาศาสตร์)
- 共产主义 (gòngchǎn zhǔyì | ลัทธิคอมมิวนิสต์)
6. 直接使用 ใช้มันทั้งอย่างนั้นแหละ
อิทธิพลของเทคโนโลยี วัฒนธรรมไปอย่างรวดเร็ว บางทีก็นิยมใช้ไปทั้งอักษรภาษาอังกฤษไปเลย โดยอาจจะใช้ทั้งคำหรือแค่บางส่วนของคำ แต่กรณีนี้มักพบได้ในภาษาระดับแชท โฆษณา แต่ไม่ค่อยพบในกรณีทางการหากไม่ใช่การอ้างอิงชื่อเฉพาะ ตัวอย่างเช่น
- APP – คือคำว่าแอพ ที่จีนจะนิยมออกเสียงเป็น เอ พี พี เช่น 请你下载这APP (qǐng nǐ xiàzài zhè A P P | โปรดดาว์นโหลดแอพนี้)
- NG – ย่อมาจาก No good / Not good ทางจีน ญี่ปุ่น เกาหลี เอามาใช้เพื่อบอกว่าพลาด และมักโผล่ในคลิปเบื้องหลังการถ่ายทำ
- PPT – ชื่อสกุลไฟล์สไลด์โชว์ของ MS PowerPoint นิยมใช้เป็นตัวย่อและอ่านว่า พีพีที เช่น 你的PPT做完了没?(Nǐ de PPT zuò wánliǎo méi | คุณทำสไลด์เสร็จแล้วหรือยัง?)
เพื่อนๆ เคยเจอคำทับศัพท์ไหนอีกบ้างที่น่าสนใจ มาแชร์มาเล่าให้ฟังกันได้นะ