#สาระไม่จำเป็นต้องรู้
เดี๋ยวนี้ทุกคนคงเคยชินการเขียนชื่อเมืองปักกิ่ง (北京 | Běijīng) เป็นภาษาอังกฤษว่า Beijing กันหมดแล้ว แต่รู้ไหมว่าเมื่อ 10 ปีก่อน ทั่วโลกยังมีปัญหาสับสนว่าควรเขียนว่า Peking หรือ Beijing กันแน่ ซึ่งยังคงเห็นในชื่อบางอย่างที่เป็นภาษาอังกฤษเช่นใน โลโก้ของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า Peking University ทำไมถึงเขียนแบบนี้ แล้วมันเกี่ยวข้องยังไงกับการมาของพินอินกัน เดี๋ยวเล่าให้อ่านกัน
จุดเริ่มต้นของความสับสน Peking กับ Beijing
เรื่องนี้ต้องย้อนไปก่อนปี ค.ศ. 1979 ในสมัยที่ยังไม่ได้ประกาศใช้พินอินอย่างเป็นทางการ ในตอนนั้นมีความพยายามที่จะแทนเสียงภาษาจีนเป็นอักษรละตินด้วยวิธีต่างๆ มากมาย ทั้งระบบ Wade–Giles, Gwoyeu Romatzyh, Sin Wenz (新文 Xīnwén), Yale romanization
อย่างไรก็ตาม ยุคสาธารณรัฐ (民国 | Mín guó) ราวๆ ค.ศ. 1919 ทางไปรษณีย์ของรัฐในสมัยนั้นก็ได้กำหนดชื่อสถานที่ต่างๆ ด้วยวิธีการที่คล้ายกับที่ภาษาไทยใช้กันอยู่ในปัจจุบัน นั่นคือ กำหนดชุดภาษาขึ้นมาให้ฝั่งรัฐใช้ (ถูกเรียกในภายหลังว่า Chinese postal romanization) เพื่อความสะดวกในการติดต่อสื่อสารกับชาติตะวันตกที่มีอิทธิพลในจีนขณะนั้น
ตามตารางเปรียบเทียบ จะเห็นเลยว่า นี่มีหลายคำเลยที่เราก็สงสัยกันมานานว่าทำไมถึงสะกดแบบนั้น อย่างเช่น
- 北京 Běijīng เป็น Peking,
- 天津 Tiānjīn เป็น Tientsin,
- 青岛 Qīngdǎo เป็น Tsingtao,
- 南京 Nánjīng เป็น Nanking
แถมยังส่งอิทธิพลมาถึงการเรียกชื่อเมืองของจีน หลายๆเมืองในภาษาไทยด้วย เช่น 南京 เราก็เรียกเป็นหนานกิง ไปด้วย
แล้วเมื่อไหร่ที่เริ่มเปลี่ยนจาก Peking เป็น Beijing?
หลังสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลง ในปี ค.ศ. 1979 รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ประกาศใช้ระบบพินอินอย่างเป็นทางการ และได้เริ่มประชาสัมพันธ์ระบบนี้ ไปจนถึงปรับเปลี่ยนการเรียกชื่อสถานที่ต่างๆ ทั้งหมดตามระบบพินอินไปด้วย
แน่นอนว่าอะไรที่แพร่หลายไปแล้ว ย่อมเปลี่ยนตามยากเป็นธรรมดา ไม่ใช่ว่าจะดีดนิ้วสั่งได้ กว่าทั่วโลกจะเริ่มเปลี่ยนกัน ก็ปาเข้าไป ไม่ต่ำกว่า 10 ปีหลังจากนั้น อย่างหนังสือพิมพ์ The New York Times ก็เพิ่งมาใช้ตามใน ค.ศ. 1986 หรือ BBC ก็เพิ่งเปลี่ยนมาใช้ตามในปี ค.ศ. 1990
ในไทยก็ยิ่งช้ากว่านั้นเข้าไปอีก เราเลยเห็นในช่วง ค.ศ. 1990 – 2000 ยังเป็นช่วงที่มีทั้ง Peking และ Beijing เลย กว่าจะเปลี่ยนได้เรียบร้อยก็นานอยู่ อันนี้ขอยังไม่แตะเรื่องที่การออกเสียงของผู้ที่ไม่ได้รู้จักพินอิน ออกเสียง Beijing เป็นเบย์จิง นะครับ อันนี้แยกได้อีกเรื่องเลย
สงสัยกันบ้างไหมว่าก่อนหน้าที่จะมีพินอิน คนจีนสอนให้อ่านอักษรจีนกันยังไง อ่านต่อได้ที่นี่
กำหนดเป็น Beijing แล้ว เปลี่ยนแล้วก็ใช่ว่า Peking จะหายไปหมด
การสะกดแบบ Chinese postal romanization ก็ยังไม่ได้หายไปทั้งหมด แม้ในจีนจะเหลือน้อยมากๆ จะพบได้แค่ในโลโก้หรือชื่ออะไรที่มีประวัติยาวนานจริงๆ อย่างไรก็ตามระบบนี้ยังคงอยู่ที่ไต้หวัน ชื่อสถานที่ต่างๆ ยังคงสะกดด้วยระบบนี้และไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งด้วยเรื่องที่ใช้มานานแล้ว และ ที่ไต้หวันใช้ระบบสอนการออกเสียงเป็นจู้อิน 注音符号 (Zhùyīn Fūhào) ทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องใช้การสะกดแบบพินอิน
ชื่อเมืองที่เราจะเห็นกันบ่อยๆ อย่าง 台北 หากสะกดเป็นพินอินจะได้เป็น Táiběi แต่ก็สะกดเป็น Taipei ในภาษาอังกฤษ หรือเมืองที่อ่านแล้วงงๆ เมื่อเป็นภาษาอังกฤษอย่าง Kaohsiung (高雄 | Gāoxióng)
นั่นแหละ เรื่องราวของความสับสนว่าทำไมถึงมีการสะกดแบบงงๆ และการเทียบเสียงต่างๆ ใครเจอที่ไหนสะกดแปลกๆ อีกจะได้ไม่งงกันนะ
ผู้เริ่มต้นเรียนจีนและอยากอ่านออกเสียงพินอินได้อย่างถูกต้อง
ตอนนี้ เพจเรา “Tutustory 图图是道” ร่วมกับ ปันปัน Attentionchinese เหล่าซือที่มากด้วยความสามารถ ทั้งสอนเหล่าศิลปินมากมาย และอัดเสียงภาษาจีนให้หลายองค์กร ทำคอนเทนท์ในเรื่องของพินอินถึง 8 ตอน ให้ทุกคนโดยเฉพาะผู้เริ่มต้นได้ศึกษาอย่างละเอียด สนุก ได้ทั้งรูปแบบวีดีโอจากทาง Attentionchinese และบทความที่เพจเราร่วมเขียนไปพร้อมๆกัน
ติดตามได้ตอนที่ 1 ได้ที่นี่เลย
ติดตาม Tutustory 图图是道 เรื่องราวภาษาจีนย่อยง่ายๆ ด้วยภาพ หรือมีเรื่องอะไรเกี่ยวกับภาษาจีนมาคุยกันได้ที่