Why Chinese call Monday to 1 cover

ทำไมวันในภาษาจีนถึงเป็นตัวเลข ไม่เหมือนภาษาอื่น | เรื่องของวันในภาษาจีน 星期制度

รู้ไหมว่าว่าวันจันทร์ในภาษาจีน เรียกว่า 星期一 xīngqīyī ซึ่ง 一 yī เนี่ยแปลว่า 1 วันอังคารเป็น 星期二 xīngqī’èr 二 èr แปลว่า 2 ไล่ไปจนถึงวันเสาร์ เป็น 6 ทั้งๆที่ วันอาทิตย์ เรียกว่า 星期日 xīngqīrì 日 rì สามารถแปลว่าดวงอาทิตย์ หรือวันก็ได้

แต่ในภาษาอื่นวันในสัปดาห์จะเกี่ยวข้องกับดาวเคราะห์ แล้วทำไมวันในภาษาจีนถึงเป็นตัวเลขแทนเกือบจะหมด ไม่เหมือนกับภาษาอื่นๆ ล่ะ? เดี๋ยว สร้างภาพเล่าเรื่อง 图图是道 จะมาเล่าให้ฟัง

1 สัปดาห์มี 7 วัน เกิดขึ้นมานาน แต่ไม่ใช่ที่จีน

ถ้าหากลองมาเทียบกับภาษาไทย เราจะเห็นได้ชัดเจนว่าวันในสัปดาห์ของภาษาเรา เกี่ยวข้องกับดาวเคราะห์โดยตรง วันจันทร์ ก็คือดวงจันทร์ วันอังคารก็คือดาวอังคาร ในภาษาอังกฤษเองก็เหมือนกันแต่จะสืบทราบรากศัพท์กันยากหน่อยเพราะมากันหลายต่อ ตั้งแต่จากไวกิ้งไล่กลับไปโรมัน และ ไปถึงบาบิโลน

ระบบสัปดาห์นี้หากจะย้อนไปจริงๆ นักโบราณคดีเชื่อว่าอารยธรรมที่เริ่มต้นระบบนี้คืออารยธรรมบาบิโลนในแถบตะวันออกกลาง ในช่วง 2334–2279 ปีก่อนคริสตกาล และอารยธรรมโรมันได้รับไปใช้ต่อและทำให้แพร่หลายเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป ส่งผลต่ออารยธรรมในฝั่งตะวันตกตั้งแต่นั้นมา

ชาวบาบิโลนตั้งชื่อวันในสัปดาห์ตามชื่อของดาวเคราะห์ที่คนสมัยนั้นรู้จักและเห็นได้เด่นชัดบนท้องฟ้า ซึ่งดาวเคราะห์เหล่านี้คือเทพเจ้าในความเชื่อของชาวบาบิโลน ได้แก่ เทพ Mir แห่งดวงอาทิตย์, เทพ Maq แห่งดวงจันทร์, เทพ Wnqan แห่งดาวอังคาร, เทพ Tir ดาวพุธ, เทพ Wrmzt แห่งดาวพฤหัสบดี, เทพ Naqit แห่งดาวศุกร์ และ เทพ Kewan แห่งดาวเสาร์ ซึ่งชาวบาบิโลนเชื่อว่าเทพเหล่านี้จะคอยดูแลในแต่ละวันตามหน้าที่ของตน

ระบบสัปดาห์นี้ได้กลายเป็นระบบที่แพร่หลายและใช้กันทั่วโลกผ่านทางหลายอารยธรรมและปรับเปลี่ยนกันเยอะที่สุดเนื่องจากอิทธิพลของชาติตะวันตกในสมัยจักรวรรดินิยม แต่เดิมจีนไม่ได้ใช้ระบบนี้และได้ปรับเปลี่ยนภายหลัง แล้วเข้ามายังไง มาอ่านกันต่อเลย

How week system mentioned in Chinese history infographic

ระบบ 7 วัน มีการกล่าวถึงในจีนหลายสมัยแต่ไม่เอามาใช้สักที

รายละเอียดเรื่องระบบ 7 วัน 1 สัปดาห์ของทางตะวันตกมีกล่าวถึงในจีนและมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง (唐朝 táng cháo) ประมาณปี ค.ศ. 764 อยู่ในคัมภีร์โหราศาสตร์ฉบับพระโพธิสัตว์มัญชุศรีและทวยเทพ 《文殊师利菩萨及诸仙所说吉凶时日善恶宿曜经》ซึ่งแปลและเรียบเรียงโดย พระอาจารย์ปู้คง (不空 Bù kōng) หรือ อโมฆวัชระ (Amoghavajra) พระชาวอินเดียเข้ามาอยู่ที่ต้าถังตั้งแต่อายุ 10 ปี ท่านได้แปลตำราทางพุทธศาสนาเป็นภาษาจีนและเผยแผ่ศาสานาในสมัยต้าถัง จนกลายเป็นหนึ่งในพระที่มีอำนาจมากที่สุดในสมัยนั้น

ในคัมภีร์ได้กล่าวถึงเทพทั้ง 7 ตามดวงดาว ที่คอยดูแลวัน เรียกว่า 七曜日 qī rào rì ได้แก่

  • วันอาทิตย์มีเทพ Mir(日曜日 rìyàorì),
  • วันจันทร์มีเทพ Maq(月曜日 yuèyàorì),
  • วันอังคารมีเทพ Wnqan(火曜日 huǒyàorì),
  • วันพุธมีเทพ Tir(水曜日 shuǐyàorì),
  • วันพฤหัสบดีมีเทพ Wrmzt(木曜日 mùyàorì),
  • วันศุกร์มีเทพ Naqit(金曜日 jīnyàorì),
  • วันเสาร์มี Kewan(土曜日 tǔyàorì)

รวมแล้วเป็น 7 วัน และนับเป็น 1 สัปดาห์ และยังมีกล่าวถึงเรื่องของจักรราศีทั้ง 12 ในระบบดาราศาสตร์ตะวันตกด้วย แต่ด้วยที่สมัยนั้นจีนมีวิทยาการทางดาราศาสตร์ ซึ่งแบ่งถึง 28 หมู่ดาว แถมยังมีระบบปฏิทินของตัวเองอยู่แล้ว ที่สำคัญคือวัฒนธรรมต่างๆ แตกต่างกันเกินไป จีงไม่ได้รับมาใช้ อย่างไรก็ตามด้วยอิทธิพลของศาสนาพุทธที่เผยแผ่เข้าไปในญี่ปุ่น พระอาจารย์คงไห่ (空海 kōng hǎi ชื่อญี่ปุ่น Kukai) ได้นำคัมภีร์นี้เข้าไปในญี่ปุ่นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 9 และ ได้ส่งอิทธิพลในเรื่องโหราศาสตร์ในสมัยเฮอัน จนสมัยเมจิ (ค.ศ. 1868-1912) ญี่ปุ่นได้มีการนำมาใช้เนื่องจากการเปลี่ยนระบบปฎิทินเป็นแบบตะวันตก

เรื่องนี้ยังคงมีการพูดถึงในอีกหลายสมัย หลักฐานอีกชิ้นที่สำคัญปรากฎในสมัยราชวงศ์หมิง (明朝 Míng Cháo) 马欢 Mǎhuān (นักเดินเรือ และนักแปลคนสำคัญของจีน) ได้มีการเล่าถึงระบบสัปดาห์อีกครั้งในหนังสือที่แต่งขึ้นชื่อ พิชิตน่านน้ำคว้าชัยทิวทัศน์《瀛涯胜览》Yíngyáshènglǎn (ประมาณปี ค.ศ. 1416) จากการเดินทางติดตาม 郑和 Zhènghé หัวหน้ากองเรือสำรวจโลกของจีน ในหนังสือได้มีการกล่าวถึงชาติอาหรับ ชาติตะวันตก ทั้งคริสต์และมุสลิมต่างๆ เช่น วันอาทิตย์ที่ครึ่งเช้าทุกคนจะไปร่วมพิธีทางศาสนาไม่มีตลาดเปิด เป็นที่มาของคำว่า 礼拜日 lǐbàirì แต่ยังไม่ได้มีการพูดถึงระบบสัปดาห์อย่างละเอียด

อิทธิพลจักรวรรดินิยม เปลี่ยนสู่ระบบสัปดาห์

ล่วงเลยเข้ามาถึงสมัยราชวงศ์ชิง (清朝 Qīng cháo) เมื่อชาติตะวันตกแผ่ขยายอิทธิพลเข้ามาในจีนมากขึ้น ในหลายๆ หัวเมืองของจีนก็มีชาวตะวันตกเข้ามาทำการค้า ตั้งรกราก และนำวิทยาการใหม่ๆ เข้ามา หนึ่งในนั้นคือชาวตะวันตกจะยึดระบบปฏิทินของตนเองและระบบสัปดาห์เป็นหลัก เรื่องนี้ทำให้คนจีนตามเมืองที่เกี่ยวข้องกับชาวตะวันตกเริ่มเรียนรู้และเคยชินกับระบบสัปดาห์และวันหยุดประจำสัปดาห์แบบตะวันตก และคำว่า 礼拜 lǐbài ก็ได้ถูกนำมาใช้แทนคำว่าสัปดาห์อย่างแพร่หลายในช่วงนี้

นอกจากเรื่องระบบสัปดาห์แล้ว ยังมีวิทยาการมากมายที่ต้องตามให้ทัน รัฐบาลชิงจึงต้องตั้งทีมขึ้นมาเพื่อปรับปรุงตำราเรียน และ การเรียนการสอนให้เข้ากับยุคสมัย หนึ่งในผู้รับผิดชอบนี้คือ 袁嘉谷 Yuán Jiā Gǔ ได้ปรับปรุงเนื้อหาและตั้งชื่อเพื่อเรียกสิ่งใหม่ต่างๆ เขาเป็นผู้ดูแลเรื่องระบบสัปดาห์

ในปี ค.ศ. 1909 袁嘉谷 ได้นำรายละเอียดทางโหราศาสตร์อย่าง 七曜日 มาพิจารณา และนำคำว่า 星期 xīngqī ซึ่งแต่เดิมหมายถึวช่วงเวลาที่สาวทอผ้าและหนุ่มเลี้ยงวัวจะได้มาพบกัน เอามาใช้เรียกแทนสัปดาห์ แต่เมื่อลองนำมาใช้แล้ว ก็เริ่มรู้สึกว่าจะเป็นการทำให้เรียนรู้โดยทั่วได้ยาก จึงมีการปรับเปลี่ยนตั้งแต่วันจันทร์ นับเป็นเลข 1 ถึงเสาร์ นับเป็นเลข 6 ดังนี้

  • วันอาทิตย์ 日曜日 ให้เป็น 星期日 xīngqīrì เพื่อให้รู้ว่าอ้างอิงมาจากอะไร
  • วันจันทร์ 月曜日 ก็นับเป็น 1 ให้เป็น 星期一 xīngqīyī
  • วันอังคาร 火曜日 นับเป็น 2 ให้เป็น 星期二 xīngqīèr
  • วันพุธ 水曜日 นับเป็น 3 ให้เป็น 星期三 xīngqīsān
  • วันพฤหัสบดี 木曜日 นับเป็น 4 ให้เป็น 星期四 xīngqīsì
  • วันศุกร์ 金曜日 นับเป็น 5 ให้เป็น 星期五 xīngqīwǔ
  • วันเสาร์ 土曜日 นับเป็น 6 ให้เป็น 星期六 xīngqīliù

ส่วนการประกาศใช้ มีหลักฐานแน่ชัดที่เมืองนานกิง (南京)จากประกาศของรัฐบาลชั่วคราวนานกิง โดย. ดร.ซุนยัดเซ็น 《南京临时政府报告》เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1912 ประกาศให้เปลี่ยนมาใช้ระบบสัปดาห์ตามแบบตะวันตก ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับการเปลี่ยนไปใช้ระบบปฏิทินสากลคู่ปฏิทินจีน

星期日 กลายเป็น 星期天 ได้อย่างไร แล้ว 周 มาจากไหน

แล้วคำว่า 星期天 xīngqītiān มาได้อย่างไร ในส่วนนี้มีการสันนิษฐานว่าเมื่อผู้คนใช้ไปเรื่อยๆ ไม่ได้รู้ที่มาว่า 日 rì ใน 星期日 นั้นหมายถึงดวงอาทิตย์ตอนที่ตั้งระบบ ในภาษาจีนสามารถพูดคำว่า 1 วัน ได้ทั้ง 一日 yírì และ 一天 yìtiān เลยคาดว่าน่าจะเป็นที่มาของการเรียก 星期天 xīngqītiān แทน 星期日 xīngqīrì ซึ่งออกเสียงได้ยากกว่าสำหรับบางท้องถิ่น

สำหรับ 礼拜 lǐbài เป็นคำเดิมที่มีใช้อยู่แล้วมีที่มาจากคัมภีร์ศาสนาคริสต์ที่แปลเป็นภาษาจีน เมื่อมีการตั้งการใช้ 星期制 xīngqīzhì ระบบสัปดาห์อย่างเป็นทางการ จึงได้ปรับเปลี่ยนมาใช้ให้สอดคล้องกัน

แล้ว 周 zhōu ก็แปลว่าสัปดาห์เหมือนกัน แถมยังใช้เรียก 周日 zhōurì ว่าวันอาทิตย์ได้เลย มีที่มาอย่างไร?

ส่วนนี้จริงๆ มีอิทธิพลมาจากการตีพิมพ์หนังสือตั้งแต่ปลายราชวงศ์ชิง การตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ในสมัยนั้นยังใช้แท่งอักษรตะกั่วในการตีพิมพ์ ภาษาจีนแตกต่างจากภาษาอังกฤษที่มีอักษรนับไม่ถ้วน อักษรแต่ละตัวที่เอามาทำแท่งพิมพ์จึงมีความสำคัญมาก การย่อจาก 星期 หรือ 礼拜 เป็น 周 แทนช่วยให้ทั้งประหยัดเนื้อที่ และต้นทุน แต่น้อยคนที่จะทราบว่า 周日 เป็นวิธีการเขียนแบบญี่ปุ่น และพบได้ในสำนักพิมพ์ที่เป็นของรัฐบาลแมนจูเรียซึ่งสนับสนุนโดยจักรวรรดิญี่ปุ่นในสมัยนั้น ก่อนจะเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป

สำหรับ 3 คำนี้หากไล่การใช้ในความเป็นทางการจะไล่ลำดับมากไปหาน้อยดังนี้

  1. 周 zhōu ใช้ในภาษาเขียน และ มีใช้พูดบ้างแต่น้อย ให้ความรู้สึกเป็นทางการ ในในปัจจุบันเริ่มมีการใช้ในภาษาพูดมากขึ้น
  2. 星期 xīngqī ใช้ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน
  3. 礼拜 lǐbài ใช้ในภาษาพูดเท่านั้น

ระบบ 1 สัปดาห์มี 7 วันปัจจุบันเรียกได้ว่าได้ปรับนำไปใช้กันทั่วโลกแล้ว แต่ก็ยังคงหลงเหลือร่อยรอยทางวัฒนธรรมต่างๆ ในแต่ละชาติไม่ว่าจะเป็นไทย จีน ญี่ปุ่น ที่ได้ผสมผสานเข้าในในการปรับไปใช้

จริงๆ ยังมีเรื่องที่น่าสนใจอีกหลายเรื่องทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับการแบ่งวันและวันหยุดของจีนโบราณ หรือ การแบ่ง 28 กลุ่มดาวที่เป็นเหตุให้จีนไม่นำระบบสัปดาห์และ จักราศี ทั้ง 12 มาใช้ ไว้มีโอกาศจะมาเล่าให้อ่านกันใหม่ครับ


หากใครมีเรื่องราวอะไรเกี่ยวกับภาษาจีนที่สนใจ มาคุยกับแอดมินได้นะครับ เดี๋ยวไว้จะมาเขียนให้อ่านกัน

เข้ามาคุยกับแอดมินได้ที่

ภาพจาก

อ้างอิง

Author

  • Game 黄俊宏

    กราฟฟิกดีไซน์เนอร์ที่เรียนภาษาจีน แบบเรียนๆหยุดๆ จนมารอบล่าสุดเรียนต่อเนื่องแล้ว สนใจภาษา การใช้งาน และ การเล่าเรื่องราวให้เข้าใจง่ายด้วยภาพ เลยมาทำคอนเทนท์ผสมทักษะการออกแบบ เล่าเรื่องและภาษา

    View all posts