汉语拼音 (Hànyǔ Pīnyīn) ถือเป็น 1 ในนวัตกรรมที่ช่วยให้การเรียนภาษาจีนง่ายขึ้นมาก โดยเฉพาะกับชาวต่างชาติ ระบบนี้เทียบการออกเสียงภาษาจีนโดยยืมอักษรโรมันเข้ามาช่วย ขอเน้นตรงนี้ว่า “ยืม” นะครับ ตัวอักษรโรมันไม่ได้สัมพันธ์กับเสียงละติน หรือ ภาษาที่ใช้อักษรละตินโดยตรง อาจจะมีบ้างที่คล้ายกันบางตัวอักษร แต่หลักๆ แล้วเอามาแทนเสียงตามภาษาจีน
ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 20
การเรียนภาษาจีนก่อนหน้าที่จะมี 汉语拼音 (Hànyǔ Pīnyīn) อย่างที่เราใช้กันในปัจจุบัน เรียกได้อย่างเต็มปากเลยว่ายุ่งยาก ย้อนกลับไปสมัยโบราณ มีระบบที่นิยมอยู่หลายระบบ หนึ่งในระบบที่นิยมคือ 反切 (fǎnqiè) เกิดขึ้นประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 3 ระบบนี้เอาตัวอักษรอื่นมาพยายามบอกเสียง เช่น 東 (东) จะถูกเขียนกำกับ 德紅反 (德红反)ใช้การอ่านออกเสียงจาก 2 ตัวแรก เสียงพยัญชนะ d จากตัวแรก และ เสียงสระ วรรณยุกต์ óng จาก ตัวที่ 2 ส่วนตัวที่ 3 ใช้เป็นแค่ตัวปิด บางตำราใช้ 反 บางตำราใช้ 切
การใช้ตัวอักษรโรมันในการแทนเสียงภาษาจีนที่แพร่หลายครั้งแรกอยู่ที่ปี ค.ศ. 1605 โดยมิชชันนารี แมทเตโอ้ ริชชี่ (Matteo Ricci) ได้ตีพิมพ์หนังสือชื่อ 西字奇迹 (Xīzì Qíjì – Miracles of Western Letters) ถือเป็นตำราเล่มแรกที่ใช้อักษรโรมันในการแทนเสียงภาษาจีน
ข้ามมาที่ ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20
มีหลากหลายระบบ ที่เป็นที่นิยมได้แก่
- Wade–Giles (ค.ศ. 1892) สร้างโดย Thomas Francis Wade และถูกพัฒนาใหสมบูรณ์โดย Herbert A. Giles ระบบนี้ถือเป็นระบบเเรกที่ยึดสำเนียงปักกิ่ง (北京 Běijīng) เป็นหลัก ระบบก่อนหน้านี้มักจะยึดตามสำเนียงนานกิง (南京 Nánjīng)
- ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ทางรัฐบาลในสมัยสาธารณรัฐจีน ได้พัฒนาระบบ 注音符号 (Zhùyīn Fūhào) เริ่มพัฒนา ค.ศ.1913 ประกาศใช้ ค.ศ. 1918 เพื่อใช้ในการสอนการออกเสียงภาษาจีนเช่นกัน ระบบนี้ได้เป็นที่แพร่หลายและช่วยให้คนจีนเรียนภาษาจีนได้ง่ายขึ้นมาก จนกระทั่ง 汉语拼音 (Hànyǔ Pīnyīn) ได้รับความนิยมและมาแทนที่ ปัจจุบันมีการใช้ที่ไต้หวันเป็นหลัก
- Chinese postal romanization (ค.ศ. 1919, พัฒนาเพิ่มเติม ค.ศ. 1947) พัฒนาโดยหน่วยงานไปรษณีย์ของประเทศจีน อีกระบบที่สร้างความสับสนกับการใช้อักษรโรมันเป็นอย่างมาก ระบบนี้เป็นที่มาของการสะกดชื่อเมืองชื่อแบรนด์ต่างๆ แบบที่ไม่รู้จะอ่านยังไงก่อนหน้านี้ เช่น Běijīng เป็น Peking , Qīngdǎo เป็น Tsingtao และยังเห็นการเขียนชื่อเมืองภาษาอังกฤษของไต้หวันยังใช้ระบบนี้อยู่
- Gwoyeu Romatzyh (ค.ศ. 1925 – 1926) เทียบเสียงพินอินเป็น Guóyǔ Luómǎzì สร้างโดยโดย 赵元任 Zhào Yuánrèn และพัฒนาต่อโดยทีมนักภาษาศาสตร์ของเขา
- ช่วงทศวรรษที่ 1930 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน และสหภาพโซเวียต (USSR) ได้ร่วมกัน สร้าง ระบบการออกเสียงด้วยอักษรโรมันในชื่อ Sin Wenz (新文 Xīnwén) ซึ่งถือเป็นรากฐานเริ่มต้นของพินอินในปัจจุบัน
- Yale romanization (ค.ศ. 1943) สร้างโดย George Kennedy เพื่อใช้สอนภาษาจีนสำหรับทหารอเมริกันจนได้รับความนิยม และ บรรจุเข้าเป็นหลักสูตรที่มหาวิทยาลัย Yale ระบบนี้ได้รับความนิยมในตำราฝั่งตะวันตกจนกระทั่ง ช่วงทศวรรษ 1970 ทางสหรัฐอเมริการได้ร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในช่วงสงครามเย็นนี้เอง พินอินจึงได้ถูกนำมาสร้างมาตรฐานให้กับภาษาจีนและเป็นที่แพร่หลายแทน
เข้าสู่ยุคระบบพินอิน
ในช่วงทศวรรษที่ 1950 ทีมปฎิรูปภาษาจีนนำโดย 周恩来 (Zhōu Ēnlái) จึงได้พยายามที่จะปฎิรูปให้มีระบบที่เป็นเอกภาพ และ ได้เชิญ 周有光 (Zhōu Yǒuguāng) เข้ามาวิเคราะห์และวางแผนพัฒนา ระบบการออกเสียงภาษาจีนด้วยอักษรโรมัน ซึ่งต่อมา 周有光 (Zhōu Yǒuguāng) ได้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาแห่งพินอิน
周有光 (Zhōu Yǒuguāng) พัฒนา 汉语拼音 (Hànyǔ Pīnyīn) โดยใช้ระบบของ 注音符号 (Zhùyīn Fūhào), Yale Romanization และ Sin Wenz เป็นพื้นฐานจนเสร็จสมบูรณ์และในที่สุด ระบบนี้ก็ได้ถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1958
จากการประกาศใช้ 汉语拼音 (Hànyǔ Pīnyīn) ครั้งนั้น ยิ่งช่วยประเทศจีนพัฒนาอัตราการอ่านออกเขียนได้อย่างมหาศาล แถมยังช่วยปรับภาษาจีนให้เข้ากับการคีย์ข้อมูลต่างๆในระบบคอมพิวเตอร์แล้วซึ่งเป็นพื้นฐานของการพัฒนาในยุคปัจจุบัน
คนที่เรียนภาษาจีนมักจะเข้าใจว่าระบบนี้ทำขึ้นเพื่อแค่ให้คนต่างชาติใช้ แต่ที่คนจีนเองก็เรียนระบบนี้ด้วยตั้งแต่โรงเรียนอนุบาลกันเลย เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์สำคัญแก่ภาษาจีนและประเทศจีนกันเลยทีเดียว
ไม่อยากจะคิดว่าถ้ายังต้องเรียนระบบ 反切 (fǎnqiè) อยู่ แอดมินจะเรียนรอดไหมเนี่ย ใครเคยเจอระบบไหนกับมาบ้าง ไหนมาเล่าให้ฟังกันหน่อยนะครับ บทความหากยาวไป ผิดถูก ดีไม่ดีอย่างไรคอมเมนท์ได้เลยนะครับ จะได้นำไปปรับปรุง มือใหม่หัดทำครับ 😀😀
ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับจีนและภาษาจีน ติดตามช่องทางที่สะดวก เป็นกำลังใจให้กันหน่อยน้า 🥰
อ้างอิง
- https://en.wikipedia.org/wiki/Fanqie
- https://www.alittledynasty.com/history-of-pinyin.html
- https://www.theworldofchinese.com/2012/03/latinxua-sin-wenz-the-prequel-to-pinyin/
- https://en.wikipedia.org/wiki/Gwoyeu_Romatzyh
- https://en.wikipedia.org/wiki/Wade%E2%80%93Giles
- https://en.wikipedia.org/wiki/Pinyin
- https://en.wikipedia.org/wiki/Yale_romanization_of_Mandarin
- https://en.wikipedia.org/wiki/Matteo_Ricci
- http://blog.sina.com.cn/s/blog_56a27bcc0100k6du.html