Chinese Money History Cover

จากเปลือกหอย เงินกระดาษ สู่ดิจิตอลหยวน | เทคโนโลยีการเงินอารยธรรมจีน 中华文明的金融科技

货币(huòbì | ตัวกลางที่ใช้แลกเปลี่ยนมูลค่า หรือ เงินนั่นแหละ) หรือ 钱 (qián | เงิน) เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ทำให้ชีวิตมนุษย์ก้าวหน้าเป็นอย่างมากจนถึงขนาดที่พวกเรามองว่าเงินเป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้ไปแล้วในปัจจุบัน

แล้วรู้กันหรือไม่ว่า จีนเองก็เป็นหนึ่งในอารยธรรมที่ก้าวหน้าเรื่องเทคโนโลยีการเงินอย่างโดดเด่นมาตั้งแต่ยุคโบราณ จีนเป็นอารยกรรมแรกๆ ที่ใช้เหรียญโลหะ เป็นอารยธรรมแรกๆ ที่ใช้เงินกระดาษ จนถึงตอนนี้ก็เป็นหนึ่งในชาติแรกๆ ที่พยายามผลักดันสกุลเงินดิจิตอล (数字货币 shùzì huòbì) เอามาใช้จริงภายในประเทศ

วันนี้ สร้างภาพเล่าเรื่อง 图图是道 จะพาไปย้อนดูเทคโนโลยีการเงินต่างๆ ที่เกิดขึ้น ตลอดอารยธรรมจีนตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน บทความนี้จะยาวพอสมควร หากอ่านไม่จบอย่างไรแชร์ไว้กลับมาอ่านใหม่กันได้นะ อยากให้เห็นภาพรวมครบถ้วน มาเข้าเรื่องกันเลย

Chinese Money History - Shells

贝币 ยุคเริ่มต้น เงินเปลือกหอยสู่หัวหมวด 贝 ของมีค่า

货币 หรือ เงิน คืออะไร? เงินคือสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน แต่ถ้าจะให้เข้าใจจริงๆ ต้องย้อนกลับไปยังยุคหินมนุษย์ยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องแลกเปลี่ยนก่อน ชีวิตในตอนนั้นจบอยู่แค่การมีอาหารเพียงต่อการดำรงชีวิตของเผ่า แต่เมื่อมนุษย์เริ่มตั้งรกรากและเกิดเกษตรกรรมขึ้น เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติที่มนุษย์มีอาหารและสิ่งต่างๆ เหลือเกินความต้องการ เผ่านี้มีข้าวก็เริ่มอยากได้เกลือของเผ่านั้น จึงเกิดการแลกเปลี่ยน

แต่พอแลกเปลี่ยนบ่อยๆ เข้า ก็เริ่มเกิดความรู้สึกว่าไม่ได้อยากได้ของบางอย่างตอนนี้ และบางทีก็ไม่ได้มีของมาแลกตลอด มนุษย์จึงเริ่มหาสื่อกลางสำหรับการแลกเปลี่ยนและสะสมมูลค่าไว้ได้ ซึ่งก็มีอยู่หลายอย่างในสมัยนั้น แต่ที่ปรากฏในอารยธรรมจีนมีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น 丝绸 (sīchóu | ผ้าไหม)、大米 (dàmǐ | ข้าว) และ 贝壳 (bèiké | เปลือกหอย) แต่ที่ดูจะแพร่หลายที่สุดจะเป็น 贝壳 ซึ่งถูกเรียกว่า 贝币 (bèibì | เงินเปลือกหอย)

贝币 จากหลักฐานปัจจุบันยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าถูกเริ่มใช้เมื่อไหร่ แต่ในสมัยราชวงศ์ซาง (商朝 | Shāng cháo) มีหลักฐานปรากฏว่าได้ถูกใช้เป็นสกุลเงินหลัก จนได้เสื่อมความนิยมลงราวๆ 1000 ปีก่อนคริสตกาล เพราะเปลือกหอยเป็นสิ่งที่หาได้ตามธรรมชาติและทำให้ควบคุมได้ยาก

อย่างไรก็ตาม 贝币 ได้หยั่งรากลึกส่งอิทธิพลไปในภาษาจีน จนอักษร 贝 (貝 ตัวเต็ม)ได้มีความหมายเป็นของมีค่าไปด้วย และได้กลายเป็นหัวหมวดในภาษาจีนที่สื่อสารถึงการเงิน มูลค่า ทั้งด้านบวกด้านลบ อย่างที่เราได้เห็นจากตัวอักษรเหล่านี้ 买 (mǎi | ซื้อ | ตัวเต็ม 買)、卖 (mài | ขาย | ตัวเต็ม 賣)、财 (cái | มั่งคั่ง ร่ำรวย)、贵 (guì | สูงศักดิ์ แพง)、贱 (jiàn | ต่ำศักดิ์ ถูก)、贫 (pín | จน ยากไร้)、账 (zhàng | บัญชี)、货 (huò | สินค้า เงิน)、贸 (mào | การค้า)、赚 (zhuàn | หา(เงิน))

Chinese Money History - Coins

金属货币 เงินโลหะ จีนใช้เป็นอารยธรรมแรก

趣知识 | Fun Facts
แม้อารยธรรมจีนจะมีหลักฐานการใช้เหรียญโลหะเป็นอารยธรรมแรก แต่การหลอมเหรียญที่เป็นพื้นฐานของเทคโนโลยีการทำเหรียญกษาปณ์ในปัจจุบัน เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อประมาณ 700 ปีก่อนคริสตกาล ที่อาณาจักรไลเดีย (Kingdon of Lydia) บริเวณคาบสมุทรตุรกีปัจจุบัน รูปร่างเหรียญเป็นวงกลมและมีการปั๊มนูนต่ำ

แม้ว่า 贝币 จะยังไม่ได้หายไปจนหมด แต่ก็ไม่สามารถบรรลุจุดประสงค์ของตัวกลางการแลกเปลี่ยนที่น่าเชื่อถือได้มากพอ ลองคิดดูว่าถ้าคนอยู่ใกล้ทะเล หรือ แหล่งที่เก็บหอยได้ ย่อมเก็บได้มากกว่าคนที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน สิ่งที่ใช้เป็นตัวกลางที่ดี ต้องบรรลุจุดประสงค์ทั้ง 3 ข้อ ได้แก่

  1. หาได้ยากหรือมีจำกัด ไม่ใช่ใครจะหาหรือผลิตก็ได้
  2. ไม่เน่าเปื่อย ผุพัง แม้เวลาจะผ่านไปนาน (จริงๆ คือไม่เร็วเกินไป แบบไม่กี่เดือน)
  3. แบ่งได้ง่าย สามารถใช้จ่ายในมูลค่าเล็กหรือใหญ่ก็ได้

ด้วยปัจจัยเหล่านี้ โลหะ จึงกลายเป็นที่นิยมใช้แลกเปลี่ยนมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่ง ประมาณ 1000 ปีก่อนคริสตกาล หลายแควันในจีนได้สร้าง 金属货币 (jīnshǔ huòbì | เงินโลหะ) ขึ้นมาหลายรูปแบบได้แก่ 布币 (Bùbì | เงินโลหะรูปคล้ายเสื้อใช้ในหลายแคว้น)、刀币 (Dāobì | เงินโลหะรูปเตาใช้ในแคว้นเยี่ยน 燕国) 、蚁鼻钱 / 铜贝 (Yǐbǐqián / Tǒngbèi | เงินโลหะรูปคล้ายหอยใข้ในแคว้นฉู่ 楚国 บางแหล่งบอกว่าใช้ตั้งแต่ราชวงศ์ซาง 商朝)、และ 环币 (Huánbì | เงินโลหะรูปวงกลมเจาะรูสี่เหลี่ยมแบบที่เราคุ้นเคย ใช้ในแคว้นฉิน 秦国)

ต่อมาเมื่อ ปี 221 ก่อนคริสตกาล 秦始皇 (Qín Shǐ Huáng | ฉินซีฮ่องเต้) ได้รวมทุกแควันเข้าด้วยกันได้ทำการปฏิรูประบบการเงินใหม่ โดยมี

  • 黄金 (huáng jīn | ทอง) เป็นหน่วยใหญ่ ทำรูปร่างคล้ายเรือ มีรูปร่างอื่นๆ ด้วย และ มีชื่อเรียกต่อมาในช่วง 元朝 (Yuán cháo | ราชวงศ์หยวน) ว่า 元宝 (yuánbǎo)
  • 铜钱 (tǒngqián | เงินทองแดง จริงๆมีผสมโลหะอื่นด้วย) เป็นหน่วยย่อย 铜钱 ทำจากโลหะทองแดง หล่อเป็นรูปวงกลม เจาะรูสี่เหลี่ยมตรงกลาง บนตัวเหรียญจะมีอักษรว่า 半两 (bàn liǎng) ซึ่งแปลว่าครึ่งตำลึง ผูกน้ำหนักตามน้ำหนักจริง 12 铢 (zhū | บาท หน่วยจีนโบราณ ไม่เท่ากับปัจจุบัน)

รูปทรงของ เงินในช่วงนี้ ได้เป็นที่นิยมใช้กันต่อเนื่องยาวนานจนถึงราชวงศ์ชิง (清朝 | Qīng cháo)

ปี 118 ก่อนคริสตกาล ช่วงราชวงศ์ฮั่น ( 汉朝 | Hàn cháo) ได้มีการปฏิรูปอีกรอบ ปรับเปลี่ยนหน่วย น้ำหนัก ให้เหมาะสมขึ้น และ อักษรที่เขียนบนเหรียญเป็น 五铢 (wǔzhū) และใช้ไปอีกหลายราชวงศ์ มีการเปลี่ยนแปลงบ้างเล็กน้อย

มาถึง 唐朝 (Táng cháo | ราชวงศ์ถัง) ได้มีการเปลี่ยนอีกรอบโดยรอบนี้ปรับเปลี่ยนน้ำหนักใหม่ และ ตัวอักษรเป็น 开元通宝 (kāi yuán tōng bǎo) ซึ่งจะเปลี่ยน 开元 เป็นอักษรอื่นๆ ในแต่ละยุคไปจนถึง 清朝 (Qīng cháo | ราชวงศ์ชิง) ปี ค.ศ. 1916 เป็น 洪宪通宝 (Hóng xiàn tōng bǎo) และเปลี่ยนเป็นระบบการผลิตเหรียญกษาปณ์ด้วยเครื่องจักรแบบตะวันตก จนกลายเป็นเหรียญรูปแบบปัจจุบันในเวลาต่อมา

Chinese Money History - Paper Money

纸币 ขี้เกียจขนเงินเยอะๆ ก็ตีตั๋วกระดาษจนเป็นธนบัตร

趣知识 | Fun Facts
ช่วง 元朝 เป็นช่วงเวลาที่ มาร์โคโปโล ได้เดินทางมายังจีน และได้เรียนรู้วิทยาการและอารยธรรมมากมายนำกลับไปที่ยุโรป หนึ่งในนั้นคือ การใช้กระดาษแทนเงิน ธนาคารเอกชนในยุโรปจึงเริ่มมีการใช้ตาม แต่กว่าชาติตะวันตกจะมี ธนบัตร ที่ออกโดยรัฐจริงๆ ก็ปาเข้าไป ค.ศ. 1661 ซึ่งออกโดยธนาคารกลางของสวีเดน

อีกเรื่องที่น่าสนใจคือจีนจัดว่าเป็นอารยธรรมแรกที่ใช้ 纸币 (zhǐbì | เงินกระดาษ) เพื่อความสะดวกในการเดินทางและค้าขาย ลองจินตนาการตามดูว่าถ้าเราจะเดินทางไปไกลๆ และต้องขนเหรียญโลหะเยอะๆ นอกจากจะหนัก ขนย้ายยากแล้ว ยังเสี่ยงอันตรายจากการโดนปล้นกลางทางด้วย ร้านค้าเงินเอกชนในสมัย 唐朝 จึงหัวใส เริ่มมีการให้บริการฝากเงิน และออกตั๋วเงิน เมื่อไปถึงปลายทางก็นำตั๋วเงินไปเบิกเงินและเอาไปใช้จ่ายต่อ

วิธีนี้ได้รับความนิยมมากขึ้น จนรัฐในสมัย 唐朝 นำมาผลิตเองและการันตีโดยรัฐ มีชื่อว่า 飞钱 Fēiqián ต่อมา ช่วงประมาณ คริสต์ศตวรรษที่ 12 ได้เกิด 纸币 หลากหลายรูปแบบ 北宋朝 (běi Sòng cháo | ราชวงศ์ซ่งเหนือ) ได้มี 纸币 ชื่อว่า 交子 Jiāozi และ 南宋朝 (nán Sòng cháo | ราชวงศ์ซ่งใต้) ใช้ชื่อว่า 会子 Huìzi、关子 Guānzi

มาจนถึง 元朝 (Yuán cháo | ราชวงศ์หยวน) ได้บังคับใช้ 纸币 อย่างจริงจังในชื่อ 交钞 jiāochāo จัดว่าเป็นธนบัตรแรกที่ออกโดยรัฐ และการันตีโดยรัฐ แต่กลับไม่ได้ผูกมูลค่ากับโลหะมีค่าเช่นเงินหรือทอง (เหมือน US Dollar ตอนนี้) แถมยังมีความพยายามห้ามการใช้จ่ายโดยเหรียญโลหะอีก เมื่อพิมพ์ 纸币 ออกมาเรื่อยๆ ไม่หยุด และไม่ได้ทองหรือเงินค้ำไว้ แถมไม่ได้มีหลักการในการกำกับ ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรงจนถึงจบ 元朝 เลย

มาจนถึง 明朝 (Míng cháo | ราชวงศ์หมิง) ก็ยังคงมีความพยายามในการใช้ 纸币 เพียงอย่างเดียว ในช่วงแรกๆ แต่ก็ยังคงพบปัญหาเรื่องเงินเฟ้อรุนแรงอยู่ จนหยุดผลิตเพิ่มเติมไปช่วง ค.ศ. 1450 – 1573 ปล่อยให้ 纸币 ที่เหลือยังคงหมุนเวียนอยู่ในระบบ ในช่วงกลางๆของสมัยนี้ได้เริ่มมี 白银元宝 หรือ ตำลึงเงิน เพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยนด้วย

ในช่วง 清朝 (Qīng cháo | ราชวงศ์ชิง) ยังคงระบบธนบัตร และ เหรียญเงิน เหรียญทองแดง ไว้ แต่มีการรับหน่วยแบ่งต่างๆ ใหม่ ในช่วงนี้มีเทคโนโลยีต่างประเทศมาช่วยให้ผลิตได้ง่ายและเร็วขึ้น จนถึงปลายสมัย 清朝 ไปจนถึงยุคสาธารณรัฐจีน ( 民国 | Mín guó) เป็นช่วงที่การเมืองไม่สงบ และ ได้เกิด 货币 ของแต่ละที่ จนกระทั่งเข้าสู่ยุคสาธารณรัฐประชาชนจีน (中华人民共和国) ในวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 1948 ได้กำหนดให้ 人民币 (Rénmínbì | RMB) เป็นสกุลเงินของชาติในที่สุด

Chinese Money History - Mobile Payment

信用卡到扫二维码 บัตรเครดิตไม่แพร่หลาย ก็ทำระบบจ่ายเงิน QR

ค.ศ. 1958 ได้เกิดบัตรเครดิตครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา โดยเจ้าแรกที่ออกคือ Bankamericard (Visa ในปัจจุบัน) จนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย และเกิดเจ้าอื่นๆ ตามมา เช่น Mastercard และ American Express ต่อมาได้เเพร่หลายไปทั่วโลก ทั้งจากการขยายบริการของบริษัทเหล่านี้เอง หรือ การให้บริการบัตรเครดิตจากค่ายธนาคารท้องถิ่นต่าง ๆ ในจีนเองก็เช่นกัน

แต่ปัญหาของบัตรเครดิตคือการจำกัดความเสี่ยงของธนาคาร ที่ต้องเลือกคนที่มีกำลังเพียงพอจะจ่ายเงินคืนได้ ทำให้การใช้บัตรเครดิตไม่แพร่หลายในประเทศที่กำลังพัฒนา คือจำกัดอยู่ในวงของคนที่มีกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะในประเทศจีน

ในช่วงตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา จีนได้มีความพยายามผลักดันเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก หนึ่งในนั้นคือ การจ่ายเงินด้วยมือถือ ซึ่งได้ทำการทดลองและพัฒนามาตลอดตั้งแต่ปี ค.ศ. 1999 – 2011 ทั้งการทดลองเพื่อดูความร่วมมือระหว่างบริษัทเทคโนโลยีเอกชน ธนาคารทั้งเอกชนและของรัฐ มาตรการของรัฐเพื่อรองรับ ไปจนถึงการทดลองเริ่มต้นใน 4 เมือง ได้แก่ 长沙 (Chángshā)、广州 (Guǎngzhōu)、上海 (Shànghǎi)、重庆 (Chóngqìng)

ปี 2011 ธนาคารกลางของประเทศจีนได้เริ่มให้ใบอนุญาตแก่เอกชนในการดำเนินการจ่ายเงินออนไลน์ และ ผนวกกับเทคโนโลยี 3G และ 4G ทำให้การจ่ายเงินออนไลน์ค่อยๆ เติบโตขึ้นจากที่เคยเป็นแค่เงินเล็กน้อย กลับมายอดการใช้จ่ายสูงถึง 357 ล้านหยวน ในปี 2014

ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเองที่ 3 บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน 阿里巴巴 (Ālǐbābā | Alibaba) มี 支付宝 (Zhīfùbǎo | Alipay),腾讯 (Téngxùn | Tencent) มี 微信支付 (Wéixìn zhīfù | WeChat Pay) และ 百度 (Bǎidù | Baidu) มี 百付宝 (Bǎifùbǎo | Badi Wallet) ได้ขยายฐานลูกค้ามากขึ้นเรื่อยๆ

ในปัจจุบัน 支付宝 และ 微信支付 ได้ครองตลาดและเปลี่ยนรูปแบบการใช้จ่ายเงินของคนจีนไปอย่างสิ้นเชิง 现金 (xiànjīn | เงินสด) แทบจะไม่มีใช้กันแล้ว แต่มีโทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต และ แสกน 二维码 (èrwéimǎ | QR Code) ก็สามารถจ่ายเงินได้อย่างสะดวกรวดเร็ว กลายเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีการเงินที่ทำให้อารยธรรมจีนกลับมาอยู่ในแถวหน้าอีกครั้ง

Chinese Money History - Digital Yuan

数字货币 เมื่อ crypto มา เตรียมก้าวสู่อนาคตด้วย Digital Yuan

การมาของ 比特币 (Bǐtèbì | Bitcoin) ตั้งแต่ปีค.ศ. 2008 ที่ Satoshi Nakamoto ได้สร้างขึ้นจากเทคโนโลยี 区块链 (Qū kuài liàn | Blockchain) ได้เปลี่ยนแปลงมุมมองของเงินดิจิตอลแบบเดิมๆ ที่ทำกับเพียงเพื่อเสริมเทคโนโลยีทางการบัญชี

ซึ่ง 数字人民币 (shùzì Rénmínbì | Digital Yuan) จะถูกจัดให้เป็นสกุลเงินดิจิตอลที่มีการรับรองโดยรัฐ (คุ้นๆ เหมือนตอนมีเงินกระดาษไหม นั่นแหละครับ ไอเดียเดียวกัน ต่างกันที่เทคโนโลยี) เมื่อกระบวนการทดลองในปัจจุบันสมบูรณ์จะสามารถใช้จ่ายได้อย่างถูกกฏหมาย ใช้เทคโนโลยี Blockchain ในการป้องกันการปลอมแปลง (แต่รัฐยังเสกเงินได้นะ) และยังใช้จ่ายได้แม้ไม่มีอินเตอร์เน็ท ซึ่งอันหลังสุดยังไม่มีการประกาศออกมาว่าสามารถทำได้อย่างไร

ที่น่าสนใจคือการที่ 数字人民币 สามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็วจนทำให้จีนเป็นชาติแรกๆ ที่มีการเริ่มใช้ 数字货币 (shùzì huòbì | สกุลเงินดิจิตอล) กับคนทั่วไป ต้องบอกว่าเป็นเพราะจีนได้มีปัจจัยพื้นฐานที่พร้อมเพียงพอแล้วในการก้าวเข้าสู่การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งได้แก่

  1. การที่ประชากรจีน เข้าสู่ 无现金社会 (wú xiànjīn shèhuì | สังคมไร้เงินสด) ได้อย่างรวดเร็ว แม้กระทั่งในผู้สูงอายุก็ยังสามารถใช้จ่ายได้โดยง่าย จนถึงขนาดที่ไปต่างประเทศยังไม่ยอมพกเงินสดไปถ้าเลือกได้
  2. ปัจจัยพื้นฐานต่างๆ ในการพัฒนาพร้อม ทั้งโครงข่ายอินเทอร์เน็ต โครงสร้างพื้นฐาน วิทยาการ และ บุคลากร
  3. ภาครัฐ สนับสนุนและส่งเสริม รวมถึงทำการทดลองอย่างเต็มที่ในเมืองที่เลือกไว้ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ และยังให้หน่วยงานรัฐยอมรับการชำระเงินเพื่อนำร่องด้วย

สำหรับ 数字人民币 เป็นการแข่งขันทางเทคโนโลยีการเงินครั้งใหม่ที่น่าจับตามอง ว่าจะพัฒนาไปอย่างไร และ นานาชาติจะรับมือกันอย่างไร เราคงได้ทราบข่าวกันเป็นระยะในอนาคตอันใกล้ครับ


ยาวมากๆ แต่ก็จบกันไปแล้วกับเทคโนโลยีทางการเงินของอารยธรรมจีนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พร้อมคำศัพท์ไปอีกเล็กน้อย จีนเป็นหนึ่งในอารยธรรมที่มีเทคโนโลยีด้านต่างๆ ตลอดช่วงประวัติศาสตร์ตั้งแต่เริ่มอารยธรรมมา และแน่นอนว่าด้วยคุณสมบัติทางด้านการค้า เทคโนโลยีด้านการเงินเลยยิ่งโดดเด่น และเป็นรากฐานให้อารยธรรมโลกพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน

จริงๆ ในไทยเองก็มีโครงการสกุลเงินดิจิตอลชื่อ โครงการอินทนนท์ ที่ใช้เทคโนโลยี Blockchain เหมือนกันแต่ยังจำกัดการใช้งานแค่ระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารพาณิชย์ อาจจะได้เห็นการพัฒนาต่อในเร็วๆ นี้

ใครมีเรื่องเกี่ยวกับการคิดค้น หรือ เทคโนโลยีต่างๆ ของจีน มาแชร์ มาเล่ากันได้เลยนะ


ติดตามเรื่องราวภาษาจีนย่อยง่ายๆ ด้วยภาพ หรือมีเรื่องอะไรเกี่ยวกับภาษาจีน มาคุยกันได้ที่


เพิ่มเติม

อ้างอิง

ภาพจาก