เราได้ยินคำแนะนำกันมาตลอดว่าการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมเป็นภาษาที่เรากำลังศึกษาอยู่ ให้ได้สัมผัสกับภาษานั้นๆ เยอะขึ้น ช่วยให้ภาษาเราพัฒนาขึ้นได้เร็วขึ้น หนึ่งในคำแนะนำนั้นก็คือ “ลองเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์เป็นภาษาจีนดูสิ” เกมได้ลองเปลี่ยน 1 ปีกว่า เปลี่ยนแล้วเป็นอย่างไรบ้าง ช่วยได้จริงๆ ไหม เดี๋ยววันนี้จะมาเล่าให้ฟังกัน
ลองเปลี่ยนแล้ว ช็อกเลยตั้งแต่แรก ไปไม่ถูก ใช้ความจำเดิมช่วย
เราก็อยากใช้ภาษาจีนได้ดีขึ้นบ้าง เลยตัดสินใจลองเปลี่ยนดูเลยแล้วกัน ทั้งมือถือ ไอแพด และก็คอมพิวเตอร์ ให้เป็นภาษาจีนให้หมด ตอนนั้นภาษาจีนของเกมเองน่าจะอยู่ประมาณ HSK4 ก็ถือว่าน่าจะได้แหละ ถ้าต้องเจออะไรที่เป็นภาษาจีนแบบนี้
พอลองเปลี่ยนปั๊ป กลายเป็นว่าช็อกมากกว่าที่คิด มีแต่อักษรจีนที่ไม่เคยเห็นมาก่อนอยู่พอสมควร นี่ยังไม่นับเรื่องประกอบกันแล้วได้ความหมายว่าอะไรด้วย
โดยปกติเป็นคนที่ใช้ของพวกนี้เป็นภาษาอังกฤษมาตลอด ใช้จนเคยชิน แค่เปลี่ยนเป็นภาษาไทยก็ยังงงๆ ว่าอะไรอยู่ตรงไหน คราวนี้เป็นภาษาจีนซึ่ง ณ เวลานั้นเราไม่เคยชิน ยิ่งทำให้สับสนเข้าไปอีกเวลาที่จะหาเมนูอะไรต่างๆ ยังดีที่พอจะเคยชินกับเมนูต่างๆอยู่แล้วเนื่องจากต้องใช้มือถือบ่อยๆ เลยยังพอจะเดาได้บ้าง ยังช่วยให้มีกำลังใจพอจะใช้วิธีนี้ต่อไปอยู่
นานแค่ไหนกว่าจะเริ่มชิน?
ในช่วงสัปดาห์แรก
เป็นช่วงที่ต้องอดทนให้ได้มากที่สุด จะรู้สึกไม่เคยชิน และพยายามที่จะเปลี่ยนกลับไปภาษาเดิมบ่อยๆ เพราะว่าเวลาจะหาอะไรหรือทำอะไรสักทีมันต้องเพิ่มเวลาเกือบสองเท่าเลย ยิ่งเวลาเจอคำอธิบายกับแอพใหม่ๆ เป็นภาษาจีนนี่นั่งงมอยู่นานเลยว่าเขาพยายามหมายความว่าอย่างไร เพราะไม่ใช่ทุกแอพจะทำภาษาจีนมาได้ดี บางแอพก็ Google Translate มาดื้อๆก็มี
ผ่านไปได้สักเดือนนึง
เป็นช่วงที่เคยชินมากขึ้น เป็นช่วงที่เริ่มจำได้แล้วว่าเมนู หรือสิ่งที่เราใช้บ่อยๆในภาษาจีนเรียกว่าอะไรบ้าง เช่น
- Files ภาษาจีนเรียกว่า 文件 (wénjiàn)
- Folder ภาษาจีนเรียกว่า 文件夹 (wénjiàn jiā)
- Setting ภาษาจีนเรียกว่า 设置 (shézhì)
พอเริ่มเก็บคำศัพท์ได้เยอะ เราจะเริ่มจับสังเกตหลักการตั้งชื่อหรือการใช้ภาษาจีนเพื่อเรื่องดิจิตอลไปได้ด้วย จากตัวอย่าง เมื่อไฟล์เรียกว่า 文件 ก็เติมอะไรที่ทำให้อยู่ด้วยกันไป เป็นคำว่า 文件夹 ซึ่ง 夹 โดยตัวของมันแปลว่าคีบให้อยู่ติดกัน ซึ่งก็พอจะเดาได้ว่าน่าจะแปลว่าแฟ้มได้ด้วยนั่นเอง พอเห็นแบบนี้ก็ช่วยเพิ่มทักษะการเดาและเข้าใจภาษาได้ดียิ่งขึ้น
ประมาณ 2 เดือน – 1 ปี
ช่วงนี้เป็นช่วงที่เราเรียนรู้ได้เยอะที่สุด แต่ก็เป็นช่วงที่เคยชินแล้ว รู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหนเป็นอย่างดี แต่ก็ยังไม่รู้ทั้งหมด ช่วงนี้เริ่มเกิดภาวะมองข้ามภาษา คือไม่สนคำภาษาจีนที่เขียนอยู่และตรงไปที่เมนูที่เราต้องการเลยเหมือนกัน
ต้องบังคับให้ตัวเองอ่านให้ได้ ในช่วงนี้ยังมีหงุดหงิดแค่ตอนที่หาสิ่งที่ต้องใช้ด่วนๆ และสำคัญมากๆ อยู่บ้าง ก็มีปรับกลับไปใช้ภาษาเดิมบ้าง เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก่อน แล้วค่อยปรับกลับมา ซึ่งเอาจริงๆ ก็ไม่ได้ดีเท่าไหร่ ต้องพยายามใช้ให้ได้แม้จะยามฉุกเฉินก็ตาม
ผ่านมา 1 ปี
เป็นช่วงที่เรียกได้ว่าสบายๆ แต่ก็ยังมีพื้นที่ให้เรียนรู้เมื่อเราต้องใช้โปรแกรมใหม่ๆ และต้องอ่านเงื่อนไข คำอธิบายต่างๆ เข้าใจในรูปประโยคมากขึ้น สังเกตตรรกะการแปลเมนูต่างๆ จากภาษาอังกฤษเป็นจีนได้ชัดเจน
ตอนนี้ไม่มีความรู้สึกอยากเปลี่ยนกลับแล้ว แม้จะต้องใช้โปรแกรมที่ไม่ได้ใช้มานานจะยังต้องงมอยู่ก็ตาม แต่ก็ถือว่าได้เรียนรู้เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ
เจอปัญหาอะไรบ้าง ระหว่างที่ใช้
- ภาวะมองข้ามภาษาจีน ใช้ความจำเพื่อใช้งานเลย นี่เป็นปัญหาที่สำคัญมากๆ เพราะมันทำให้การเรียนรู้ด้วยวิธีนี้ประสิทธิภาพลดลงไปสุดๆ สมองคนเราฉลาดที่จะหาทางทำในที่สิ่งที่เราอยากทำได้ด้วยการจำและเดา ต้องคอยบังคับตัวเองให้อย่างน้อยอ่านสักแป็ป ก่อนที่จะกดเพื่อให้คำศัพท์ยังได้ผ่านตาบ้าง
- หงุดหงิดว่าทำอะไรไม่ได้ดั่งใจ ด้วยตัวเกมเองเป็นคนทำอะไรไว จะรู้สึกหงุดหงิดมากๆ เวลาที่หาเมนูหรือคำสั่งต่างๆ ไม่เจอ ยิ่งแต่เดิมเคยทำได้เร็วแค่ไหน พอมาเป็นภาษาจีนก็ต้องช้าลงอย่างน้อยเป็น 2 เท่า ก็พาลจะอยากเปลี่ยนกลับไปทุกที แรกๆ อาจจะยอมได้บ้าง แต่อย่าบ่อย ก็ตั้งกฎกับตัวเองไว้ว่าเปลี่ยนได้กี่ครั้งต่อเดือนเผื่อไว้กรณีฉุกเฉินบ้างก็ดี
- คำศัพท์ที่ได้ 20% – 30% อาจจะไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวันเลย จะมีแค่บางแอพที่ทำให้ได้คำศัพท์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันด้วย เช่น แอพเกี่ยวกับบ้าน โน๊ต พยาการณ์อากาศ ออกกำลังกาย ช็อปปิ้ง ดูหนัง เป็นต้น แต่มันก็จะมีคำศัพท์อยู่ส่วนนึงที่ใช้แค่เพื่อใช้งานมือถือ หรือคอมเท่านั้น ถ้าหากทำงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีหรือใช้เทคโนโลยีเป็นปกติส่วนนี่ก็อาจจะได้ใช้ทั้งหมด
- คนรอบตัวบ่นว่าใช้ของๆเราไม่ได้ ยิ่งหากเราลืมไฟล์และอยากให้คนอื่นช่วยนี่หมดหวัง จริงๆ อันนี้อาจจะมองว่าเป็นข้อดีด้วยก็ได้ เพราะเพิ่มความเป็นส่วนตัวมากๆ (น่าจะถูกใจหลายคน) คนจะไม่ค่อยอยากยุ่งของเราเท่าไหร่ เพราะอ่านไม่ออก แต่ว่ามันก็ต้องมีบ้างเวลาฉุกเฉิน เช่นไฟล์บางอย่างเราลืมไว้ที่คอมแล้วไม่ได้อัพขึ้นคลาวด์ ออกไปข้างนอกแล้วนี่ไม่ต้องหวังเลยนะว่าใครจะช่วยส่งมาให้ได้ง่ายๆ วีดีโอคอลบอกกันไปให้สุดเลยทีเดียว
แล้วสรุปจริงหรือหลอก ใช้วิธีนี้ยังไงให้มีประสิทธิภาพ
ถ้าให้ฟันธงเลยว่าช่วยได้ไหม ตอบได้เลยครับว่าช่วย และช่วยได้มากๆ แต่เป็นแค่ส่วนเสริมเท่านั้น และมีตัวแปรอยู่นั่นคือการเรียนรู้แบบแอคทีฟ ซึ่งอย่างที่ได้อธิบายไปในบทความการสร้างกระบวนการเรียนรู้ การปรับแบบนี้จะเป็นการรับข้อมูลเข้าไป แต่ไม่ได้เอาออกมาใช้ และถ้าเราไม่สนใจควบคุม “ภาวะมองข้ามภาษา” ละก็การเห็นซ้ำบ่อยๆ ก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลย แล้วจะทำยังไงให้มีประสิทธิภาพ เกมสรุปจากประสบการณ์ของเกมมาให้ตามนี้ครับ
ปรับยังไงให้มีประสิทธิภาพ
- อย่าลืมว่าวิธีนี้เป็นแค่ส่วนเสริม การฝึกทักษะทางภาษาอย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นการฟัง พูด อ่าน เขียน ยังคงต้องทำต่อไป เพื่อให้เราใช้ภาษาได้อย่างแท้จริง
- บังคับให้ตัวเองอ่านภาษาจีนบริเวณเมนูนั้นๆ ทุกครั้ง อ่านออกเสียงได้ยิ่งดี จนมั่นใจว่าไม่ลืมแล้วว่ามันแปลว่าอะไร ถ้าลืมก็ต้องกลับมาทำใหม่วนไป
- จดคำศัพท์ที่ได้มาแล้วลองแปลดูว่าเข้าใจว่าอะไร ลองเสิร์ชหาดูว่าเมนูตรงนั้นภาษาไทย หรือ อังกฤษเรียกว่าอะไร จะเข้าใจได้ดียิ่งขึ้น จะแคปภาพไปเขียนก็ได้นะ
- ตั้งกฎว่าในแต่ละเดือนจะเปลี่ยนภาษากลับได้กี่ครั้งหากต้องเปลี่ยนกลับจริงๆ และยิ่งนานไปยิ่งลดจำนวนครั้งลง เช่น เดือนแรกให้ 10 ครั้ง เดือนที่ 5 ให้เหลือแค่ 3 ครั้งก็พอ
- เมื่อรู้สึกว่าไม่มีอะไรให้เรียนรู้ใหม่ ให้หาโปรแกรมหรืออะไรที่ต้องใช้มาลองใหม่ดู จะช่วยได้เยอะขึ้น
- ใช้เป็นแรงบันดาลใจในการหาข้อมูลต่อด้วย เช่น สงสัยว่าทำไมใช้ 23时 ก็ลองหาข้อมูลเพิ่มเติมดู
และนี่ทั้งหมดคือประสบการณ์ของเกมครับ หวังว่าจะเป็นประโยชน์ให้กับคนที่กำลังคิดจะลองวิธีนี้อยู่ว่าจะลองดํไหม อย่างที่ได้บอกไป ยังไงวิธีนี้ก็เป็นแค่ส่วนเสริมที่ช่วยให้เราได้สัมผัสภาษาเยอะขึ้น พอจะช่วยได้ในวันที่เราไม่ได้ทวนการเรียนของเรา แต่อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้และฝึกทักษะทางภาษาให้ได้อย่างครบถ้วน ก็ยังเป็นหัวใจสำคัญที่ห้ามละเลยอยู่ดี
ใครใช้วิธีเปลี่ยนมือถือหรือคอมเป็นภาษาจีนอยู่ มีประสบการณ์หรือปัญหาอะไรมาแชร์กันหน่อยนะ เผื่อจะได้แลกเปลี่ยนกัน ~
ติดตามเรื่องราวภาษาจีนย่อยง่ายๆ ด้วยภาพ หรือมีเรื่องอะไรเกี่ยวกับภาษาจีน มาคุยกันได้ที่