เผลอแป๊ปเดียวเทศกาลช้อปปิ้ง 11•11 หรือ 双十一 ที่ขึ้นชื่อว่ายิ่งใหญ่ที่สุดของโลกก็เวียนมาบรรจบอีกครั้ง ชาวไทยหลายคนอาจคุ้นเคยกับเทศกาลช้อปปิ้งประจำเดือนอย่าง 9•9, 10•10 กันอยู่แล้ว ส่วนทางฝรั่งเองก็อาจจะคุ้นเคยกับเทศกาล Black Friday หรือ Cyber Monday แต่ปัจจุบันประเทศทางตะวันตกหรือโซนอเมริกาก็หยิบเอาแคมเปญ 11•11 ไปใช้ด้วยเหมือนกัน คำถามคือ เพราะอะไรประเทศเหล่านี้ถึงทำตามวัฒนธรรมการช้อปปิ้งของจีน มาหาคำตอบได้ที่บทความนี้เลย
สำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่าเทศกาล 双十一 มีความเป็นมาอย่างไร สามารถอ่านได้ที่บทความ 11•11 双十一 จากวันคนโสดสู่มหกรรมช็อปปิ้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ก่อนได้เลย |
ฝรั่งมี Black Friday กับ Cyber Monday มาก่อน แล้วคือเทศกาลอะไร อธิบายแบบคร่าวๆ กัน
Black Friday (黑色星期五)
เป็นเทศกาลช้อปปิ้งที่ตรงกับวันศุกร์ที่ 4 ของเดือนพฤศจิกายนของทุกปี หรือก็คือหลังวัน Thanksgiving น่ะแหละ ซึ่งปีนี้ก็จะตรงกับวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 ที่มาที่ไปของเทศกาลนี้ยังไม่ชัดเจน มีแหล่งข้อมูลบางแห่งกล่าวว่า จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นที่เมือง Philadelphia ซึ่งหลังจากวันขอบคุณพระเจ้ามา 1 วัน ประชาชนในเมืองแห่กันออกมาช้อปปิ้งจนรถติดวุ่นวาย ตำรวจที่มาดูแลก็ว้าวุ่นไปหมด เลยมีคำเรียกเล่นๆ กันว่า Black Friday จนติดปาก ต่อมาในปี 1980 มีพ่อค้ารายหนึ่งชื่อ Philly ได้ให้ความหมายใหม่กับคำว่า Black Friday ว่าเป็นวันสำหรับซื้อขายระดับประเทศ และก็เลยเป็นที่มาของเทศกาลดังกล่าวจนถึงทุกวันนี้
Cyber Monday (网络星期一)
เทศการช็อปปิ้งยังไม่จบ วันจันทร์หลัง Black Friday ก็มี Cyber Monday ค่อ แต่ จะเน้นการซื้อขายผ่านทาง E-commerce ส่วน Black Friday แต่เดิมจะเน้นไปทางการช้อปปิ้งแบบออฟไลน์ซะมากกว่า (เอาจริงเดี๋ยวนี้ก็เบลอๆ เน้นออนไลน์ไปซะหมด)
ซึ่งที่มาที่ไปนั้นเริ่มต้นขึ้นในปี 2005 โดยสมาคมผู้ค้าปลีกแห่งชาติ (National Retail Federations) ของสหรัฐอเมริกา มองว่าผู้บริโภคหลายคนพลาด Black Friday อย่างน่าเสียดาย ก็เลยตั้งเทศกาล Cyber Monday ขึ้นมาซะเลย แต่ต้องซื้อผ่านออนไลน์เท่านั้นนะ (เรียกได้ว่าสำหรับคนที่ยังช้อปปิ้งในเทศกาล Black Friday ไม่พอ ก็มีเวลาให้คิดอีก 2 วันก่อนที่ Cyber Monday จะเริ่มขึ้น)
วิเคราะห์ 3 เหตุผลทำไม 双十一 ถึงกลายเป็นมหกรรมระดับโลก
อย่างไรก็ตาม ในปี 2013 ยอดขายในเทศกาล 双十一 ก็ได้แซงทั้ง Black Friday และ Cyber Monday เป็นที่เรียบร้อย และกลายเป็นเทศกาลการช้อปปิ้งออนไลน์และออฟไลน์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกไปแล้ว หลายๆ แบรนด์ โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตกจึงเริ่มกระโดดเข้ามามีส่วนร่วมในแคมเปญนี้เพราะมองว่าเป็นโอกาสที่แบรนด์จะสามารถเชื่อมต่อกับกลุ่มมิลเลียนเนียล ชาวต่างชาติที่ปักหลักฐานในประเทศอื่น (expats) และนักช้อปตัวยงชาวเอเชียที่ข้ามดินแดนมายังประเทศตะวันตกได้
ยอดขายที่แซงแคมเปญคู่แข่งแบบไม่เห็นฝุ่น
อย่างที่ทราบกันดีแล้วว่าในปี 2009 Alibaba Group ได้ริเริ่มเทศกาลช้อปปิ้ง 11•11 ขึ้นมาและผลตอบรับดีขึ้นมาโดยตลอดจนสามารถทำยอดขายแซงหน้าทั้ง Black Friday, Cyber Monday หรือแม้แต่ Amazon Prime Day ได้ ซึ่งเมื่อเทียบกันในแง่ของตัวเลขแล้ว พบว่า…
- เทศกาลช้อปปิ้ง 11•11 สามารถทำยอดขายได้มากกว่ายอดขายของ Black Friday และ Cyber Monday รวมกัน ถึง 2.5 เท่า และมากกว่า Amazon Prime Day ถึง 18 เท่า
- และต่อให้เอายอดเงินที่เทศกาลขอบคุณพระเจ้ามารวมกับ Black Friday และ Cyber Monday ก็ยังน้อยกว่าของ 11•11 อยู่ดี
การเคลื่อนไหวของ Alibaba
- ในปี 2016 Alibaba ได้ทำการเข้าซื้อ Lazada Group อีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแน่นอนก็ได้โปรโมตเทศกาล 11•11 ด้วย ทำให้ประเทศในแถบนี้ได้รับอิทธิพลไปด้วย และแน่นอนประเทศไทยก็รับมาเหมือนกัน แต่มาตั้งแต่ 1•1 จนถึง 12•12
- ในปี 2018 Alibaba ได้ซื้อ Daraz ซึ่งเป็นอีกหนึ่ง e-commerce ที่ใหญ่ที่สุดของโซนเอเชียใต้
- สำหรับโซนยุโรปและอเมริกา Alibaba ก็ได้ผลักดันแคมเปญนี้ผ่านแพลตฟอร์มนานาชาติ AliExpress จึงทำให้ 双十一 แพร่หลายในประเทศโซนยุโรปและอเมริกามากขึ้น
- นักช้อปในประเทศ Eurozone จะสามารถเซฟเงินได้ 4 ยูโรต่อการซื้อครบทุก 20 ยูโร ในขณะที่อเมริกาก็เช่นเดียวกัน เมื่อซื้อครบทุก 20 ดอลลาร์ก็จะได้ส่วนลด 4 ดอลลาร์
- สำหรับเม็กซิโกนอกจากจะได้ส่วนลดถึง 10% จากราคาต่ำสุด (低价) ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ในเทศกาล 11•11 นี้ หากซื้อครบ 300 เปโซเม็กซิโก ก็ได้ส่วนลดไปถึง 60 เปโซเม็กซิโกเลยทีเดียว
- ส่วนบราซิลในช่วงเทศกาล 11•11 ทาง AliExpress ยังให้ส่วนลดเพิ่มอีก 20% โดยลดจากสินค้าที่ลดลงมาแล้ว (ลดแล้วลดอีก) รวมมูลค่าส่วนลดที่มอบให้มากถึง 1 หมื่นล้านเรียลบราซิล
นอกจากนี้ยังมีสถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับเทศกาลช้อปปิ้ง 11•11 อีกด้วยไม่ว่าจะเป็น
- ในปี 2017 Alibaba สร้างสถิติโลกโดยมีการชำระเงินมากที่สุดใน 1 วัน โดยอยู่ที่ 256,000 ครั้งต่อวินาที และที่สำคัญคือ server ไม่ล่มด้วย! (ถ้าอยากคิดเป็นวันก็คูณด้วย 60 x 60 x 24 เอานะครับ)
- ในปี 2019 Alibaba สามารถทำเงินได้ถึง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใน 68 วินาที
- ในปี 2020 และ 2021 Alibaba สามารถทำรายได้ถึง 7.41 และ 8.45 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐตามลำดับ
- ในปี 2022 สามารถทำเงินได้ถึง 1.57 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
เหตุผลทางประชากรศาสตร์ (Demographic)
นอกจากในแง่ของการทำธุรกิจและยอดขายแล้ว ประชากรศาสตร์ก็อาจมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย กล่าวโดยสรุปง่ายๆ คือ ปัจจุบันไม่ว่าจะเราจะไปที่ไหน ที่นั้นก็มีชาวจีนอาศัยอยู่ไม่มากก็น้อย ซึ่งสังเกตได้จากการที่แต่ละประเทศมีสิ่งที่เรียกว่า Chinatown เป็นของแต่ละประเทศเลย และด้วยธรรมชาติของมนุษย์ การนำพาวัฒนธรรมติดตัวมาด้วยถือเป็นเรื่องปกติมาก ดังนั้นการที่พวกเขาจะหยิบวัฒนธรรมการช้อปปิ้ง 双十一 มาด้วยก็คงไม่แปลก และในอีกทางหนึ่ง แบรนด์ต่างๆ เมื่อรู้ว่ามีชาวจีนที่มีกำลังซื้อ อาศัยอยู่ในพื้นที่แล้ว ทำไมแบรนด์เหล่านั้นถึงจะไม่ทำแคมเปญเอาใจคนจีนล่ะ
แบรนด์ต่างประเทศเริ่มเอาด้วย แม้แต่ Amazon ก็ยังจัดตาม
- หนึ่งในวิธีที่แบรนด์เริ่มกระโดดเข้าหาเทศกาล 11•11 ก็คือการสร้างหน้าเว็บไซต์ภาษาจีนขึ้นมาซึ่งมีหลายแบรนด์ที่ทำเช่น Amazon, Dealmoon, Nike, Estee Lauder ฯลฯ
- เทศกาลดังกล่าวเรียกได้ว่ากลายเป็นช่วงเวลาที่เหมาะเจาะในการปล่อยสินค้าตัวใหม่ ยกตัวอย่างเช่น Burberry และ MAC ได้เปิดตัวสินค้าใหม่ผ่านช่องทาง Tmall
- เป็นอย่างที่ทราบกันดีว่า Amazon มี Prime Day เป็นของตัวเอง (ซึ่งจริงๆ แล้วตั้งขึ้นมาเพื่อสู้กับ 11•11 ของจีน) แต่ด้วยความ “ใจป้ำ” และจุดประสงค์ที่ต่างกัน เลยทำให้ไม่สามารถเอาชนะ 11•11 ได้ ปัจจุบันเลยมีเทศกาลดังกล่าวในแพลตฟอร์มของตัวเองด้วย ซึ่งในปีนี้ Amazon จัดตั้งแต่วันที่ 9-12 พฤศจิกายน
- Imran Khan ผู้ก่อตั้ง (co-founder) และ CEO ของ Verishop ธุรกิจ e-commerce มองว่าเทศกาล 11•11 จะเป็นช่องทางที่พาแบรนด์เชื่องโยงกับกลุ่มมิลเลียนเนียลได้
- อย่างไรก็ตาม บางแบรนด์ก็มองว่าแม้ Alibaba จะเป็นคนริเริ่ม 11•11 แต่ตอนนี้ได้รับความนิยมจนกลายเป็นเทศกาลสากลไปแล้ว เลยจัดแคมเปญ 11•11 สำหรับคนทั่วโลกแทน เช่น Luisa Via Roma, Verishop และ By Far
แล้วทุกคนคิดว่ายังไงกันบ้างกับ 11 • 11 ที่กลายเป็นมหกรรมระดับโลกไปแล้ว ว่าแต่เสียกันไปเท่าไหร่ มาคอมเมนท์บอกกันหน่อยสิ
เขียนและเรียบเรียงโดย @kan_tsing
เรียบเรียงและภาพโดย Tutustory
ติดตาม Tutustory 图图是道 เรื่องราวภาษาจีนย่อยง่ายๆ ด้วยภาพ หรือมีเรื่องอะไรเกี่ยวกับภาษาจีนมาคุยกันได้ที่
อยากอ่านเนื้อหาผสมผสานภาษาและวัฒนธรรมติดตาม @kan_tsing ได้เลย
อ้างอิง
- https://www.pptvhd36.com/news/ไลฟ์สไตล์/185061
- https://www.thumbsup.in.th/black-friday-cyber-monday#google_vignette
- https://www.voguebusiness.com/consumers/singles-day-2020-west-brands
- https://www.scmp.com/magazines/style/luxury/article/3037213/how-alibabas-singles-day-became-global-billion-dollar
- https://marketingtochina.com/when-should-you-start-getting-ready-for-11-11/
- https://sea.mashable.com/culture/13173/5-facts-you-might-not-know-about-the-1111-global-shopping-sale
- https://www.protocol.com/china/china-singles-day-us-holiday-shopping
- https://www.theregister.com/2022/11/13/asia_tech_in_brief/ https://www.bignewsnetwork.com/news/274025622/aliexpress-to-launch-fastest-1111-global-shopping-festival-in-history