chinese ancestor map - qin state cover

祖宗十八代 – 秦国版 | จิ๋นซีฮ่องเต้กับบรรพบุรุษ 18 รุ่น มีใครบ้าง

ไทยมีคำว่า 9 ชั่วโคตร แต่รู้ไหม ที่จีนมีถึง 18 รุ่น นับขึ้นไป 9 รุ่น และนับลงมา 9 รุ่น จะมีคำว่าอะไรบ้าง มาดูกันในอินโฟกราฟฟิกนี้ ที่จะพาคุณไปเรียนทั้งศัพท์จีนและเรื่องราว 宗族十八代 บรรพบุรุษ 18 รุ่นของ จิ๋นซีฮ่องเต้ว่ามีเชื้อสายเป็นใครบ้าง

บทความและอินโฟกราฟฟิกนี้ เป็น Co-content โดยเพจ “Jamez Wenzong 文宗” เพจความรู้ประวัติศาสตร์จีนที่เล่าเรื่องได้อย่างน่าสนใจ และ เพจเรา “Tutustory 图图是道”

อย่ารอช้า เริ่มกันเลย


ใครสนใจประวัติศาตร์จีนเรื่องนี้ต่อ คืนวันศุกร์ที่ 1 ก.ค. นี้ ทุ่มตรง อย่าลืมติดตามรายการ “ประวัติจีนกับเจมส์” ได้ทางช่องยูทูบ Roundfinger Channel นะครับ


แผนภาพลำดับบรรพชน…..ฉบับแคว้นฉิน

เมื่อพูดถึงการลำดับญาติ แน่นอนว่าก็ต้องไม่พ้นคำว่า พ่อ ลุง อา น้า ปู่ ซึ่งจริง ๆ แล้ว ในบริบทของไทยมีคำเรียกบรรพบุรุษที่อาวุโสสุด คือ รุ่นของ “เทียด” และรุ่นทายาทก็ลงไปถึงรุ่นของ “ลืด” นับแล้วก็มีทั้งหมด 10 รุ่นด้วยกัน

ของไทยมี 10 รุ่นก็นับว่าเยอะแล้วสำหรับตระกูลหนึ่ง แต่ทราบหรือไม่ว่า ทางฝั่งวัฒนธรรมจีนเองมีคำเรียกญาติที่มากถึง “18 รุ่น” เลยทีเดียว ในครั้งนี้ขอนำพาคุณผู้อ่านไปทำความรู้จักกับ

“จู่จงสือปาไต้….บรรพบุรุษ 18 รุ่น”

โดยจะนำเสนอผ่านเรื่องราวของตระกูลที่ครั้งหนึ่งเคยทรงอำนาจมากในประวัติศาสตร์จีน นั่นก็คือ บรรพบุรุษของแคว้นฉิน…กว่าจะมาเป็น “จิ่นซีฮ่องเต้” นั่นเอง โอเคมาเริ่มกันได้เลย

บรรพบุรุษ 18 รุ่นของจีน จะเป็นการนับขึ้นไป 9 รุ่น และลงไปอีก 9 รุ่น เมื่อรุ่นตัวเองเป็นจุดอ้างอิง ถือว่ามากกว่าของไทยที่นับขึ้นเพียง 4 รุ่น และนับลงแค่ 6 รุ่นเท่านั้น ซึ่งของประวัติแคว้นฉิน ถือเป็นไม่กี่สายตระกูลในประวัติศาสตร์จีน ที่มีข้อมูลบรรพชนครบถ้วนทุกรุ่น โดยรุ่นที่ใช้เป็นหมุดอ้างอิง คือ รุ่นของ “ฉินเจาจื่อ”

แคว้นฉิน (秦国) ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อต้นราชวงศ์โจวตะวันออก (东周) เนื่องด้วยสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้น คือ พระเจ้าโจวโยวหวัง (周幽王) กษัตริย์คนที่ 12 และคนสุดท้ายของโจวตะวันตก (西周) ไม่สามารถรับมือกับปัญหาการรุกรานของอนารยชนทางตะวันตก หรือที่รู้จักในชื่อ “เฉวี่ยนหรง (犬戎)” ได้ จนพระนครของอาณาจักร “เฮ่าจิง (镐京)” ต้องพังพินาศลงไป รวมถึงกษัตริย์ก็ถูกพวกคนเถื่อนปลงพระชนม์อีกด้วย

โจวโยวหวังมีโอรสคนหนึ่ง นามว่า “จีอี๋จิ้ว (姬宜臼)” ราชบุตรคนนี้สามารถรอดพ้นเงื้อมมือจากการไล่ล่าของเฉวี่ยนหรงได้ ด้วยการอภิบาลจากหัวหน้าคนเลี้ยงม้าคนหนึ่ง เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายลง เหล่าบรรดาเจ้าแคว้นพากันขับไล่พวกเฉวี่ยนหรงออกจากแผ่นดินโจวได้ ราชบุตรจีอี๋จิ้วเสวยราชย์เป็นโอรสสวรรค์ – เทียนจื่อ (天子) ทว่าสภาพของพระนครย่อยยับจนยากจะบูรณะให้เพียบพร้อมดั่งเดิมได้อีกแล้ว จึงกระทำการย้ายเมืองหลวงไปทางตะวันออก โดยไปที่ “ลั่วยี่ (洛邑)”

ดังนั้นจึงถือเป็นการเปิดฉากราชวงศ์โจวตะวันออกอย่างเป็นทางการ โดยมี “พระเจ้าโจวผิงหวัง (周平王)” หรือจีอี๋จิ้วเป็นปฐมกษัตริย์ ส่วนหัวหน้าคนเลี้ยงม้าที่มีความดีความชอบเคยช่วยชีวิตเทียนจื่อไว้เมื่อครั้งตกยาก โจวผิงหวังซาบซึ้งในบุญคุณอันใหญ่หลวงนี้ จึงพระราชทานให้เป็นเจ้าผู้ครองนคร ซึ่งตระกูลของเขาใช้ “แซ่อิ๋ง (嬴)” ปกครองดินแดนบริเวณแคว้นฉิน ทางตะวันตกของราชอาณาจักรโจว และตำแหน่งเจ้าแคว้นก็สืบทอดในวงศ์ตระกูลไปตราบนานเท่านาน

เจ้าแคว้นฉินคนแรก ปรากฏชื่อในหลักฐานประวัติศาสตร์ว่า “ฉินเซียงกง (秦襄公)” นักวิชาการจีนได้ซอยย่อยราชวงศ์โจวตะวันออกออกเป็น 2 ยุค ก็คือ ยุคชุนชิว – วสันตสารท (春秋) กับ ยุคจ้านกั๋ว – รณรัฐ (战国) ซึ่งยุคชุนชิวมาก่อนยุคจ้านกั๋ว และรวม ๆ แล้วทั้งหมดนี้อยู่ในยุคตามชื่อวรรณกรรมจีนคลาสสิค “เลียดก๊ก” นั่นเอง ฉินเซียงกง วางรากฐานแคว้นฉินให้เริ่มมีบทบาทโลดแล่นเหมือนกับแคว้นอื่น ๆ ในยุคชุนชิว กระทั่งผ่านไปหลายรุ่น จนมาถึงรุ่นของ

1. ฉินมู่กง : 秦穆公

อิ๋งเริ่นห่าว (嬴任好) เจ้านครรัฐคนที่ 9 ของแคว้นฉิน คนนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็น 1 ในอู่ป้า หรือ 5 อธิราช (五霸) แห่งยุคชุนชิว ซึ่งเจ้านครรัฐอีก 4 คนก็มี ฉีหวนกง แห่งแคว้นฉี (齐桓公) ซ่งเซียงกง แห่งแคว้นซ่ง (宋襄公) จิ้นเหวินกง แห่งแคว้นจิ้น (晋文公) และฉู่จวงหวัง อ๋องหรือราชาแห่งแคว้นฉู่ (楚庄王)

แคว้นฉินอยู่ทางชายขอบทิศตะวันตก ช่วงแรก ๆ ยังถูกแคว้นอื่น ๆ ในแผ่นดินจงหยวน (中原) หรือที่ราบภาคกลางดูแคลนอยู่เสมอว่าเป็นพวกชั้นล่าง ไร้อารยะ จนมาถึงรุ่นของฉินมู่กง ท่านเป็นเจ้าแคว้นที่มีการเกี่ยวดองกับแคว้นจิ้น (晋国) ซึ่งเป็นแคว้นใหญ่ตรงภาคกลาง ผ่านการแต่งงาน โดยมเหสีของเขาก็เป็นพี่สาวของจิ้นเหวินกงอีกด้วย แคว้นจิ้นปกครองโดยตระกูลจี (姬) แซ่เดียวกับราชสกุลของราชวงศ์โจว

การสมรสของฉินมู่กงกับชนชั้นสูงแคว้นจิ้น ทำให้เขารู้จักกับบุคคลคนหนึ่งที่มากด้วยความสามารถ และต่อมาก็เป็นผู้ช่วยให้แคว้นฉินเจริญรุ่งเรืองจนเป็นมหาอำนาจหนึ่งในใต้หล้า บุคคลคนนั้นมีชื่อว่า “ไป๋หลี่ซี (百里奚)” ประวัติของไป๋หลี่ซีนับว่าน่าสนใจทีเดียว เคยรับราชการที่แคว้นเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง คือ แคว้นอวี๋ (虞国) ต่อมาแคว้นอวี๋ถูกแคว้นจิ้นผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่ง ไป๋หลี่ซีลี้ภัยไปที่แคว้นฉู่ (楚国)

ประการหนึ่งที่ทำให้ฉินมู่กงปกครองแคว้นฉินจนเป็นนครรัฐทรงอิทธิพล ถึงขนาดประวัติศาสตร์จารึกไว้ว่าเป็น อธิราช – ป้า (霸) คือ ท่านรู้จักเลือกใช้บุคคลตามความสามารถ โดยไม่สนว่าคน ๆ นั้นมีพื้นเพมาจากอะไร ขอให้งานสำเร็จลุล่วงก็เป็นใช้ได้ หลักการรู้จักเลือกใช้คนและถนอมไมตรี สังเกตได้จากการที่ฉินมู่กงยอมเสียสละ “หนังแกะ” เพื่อแลกกับตัวไป๋หลี่ซีมาให้รับใช้ที่แคว้นฉิน

ในขณะนั้นไป๋หลี่ซีมีสถานะไม่ต่างจากทาสในแคว้นฉู่ การใช้หนังแกะแลกตัวไป๋หลี่ซีมา เป็นอุบายของฉินมู่กงเพื่อไม่ให้เป็นที่ผิดสังเกตจากคนแคว้นฉู่ ไป๋หลี่ซีจึงเปลี่ยนสถานะจากทาสกลายมาเป็นเสนาบดีฉิน อีกทั้งได้ฝากผลงานให้แคว้นฉินมีศักยภาพไล่ตามแคว้นทรงอิทธิพลอย่างแคว้นจิ้น รวมถึงสามารถผูกมิตรกับอนารยชนทางตะวันตก – ซีหรง (西戎) ได้หลายเผ่าอีกด้วย

ฉินมู่กงปกครองแคว้นฉินนานถึง 39 ปี มเหสีของเขา ซึ่งเป็นสตรีจากแคว้นจิ้นถูกบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ว่า “มู่จี (穆姬)” ราชโอรสคนหนึ่งในบรรดาโอรสทั้งหมด 40 คน ชื่อ “อิง” ขึ้นครองตำแหน่งเจ้านครรัฐฉินต่อไป

2. ฉินคังกง : 秦康公

อิ๋งอิง (嬴罃) โอรสของฉินมู่กงกับมู่จี ปกครองแคว้นฉินได้ประมาณ 12 ปี เหตุการณ์ส่วนมากในยุคสมัยนี้ คือ แคว้นฉินยังคงมีสงครามกับทางแคว้นจิ้นอยู่สม่ำเสมอ บุตรของเขา “เจีย” ดำรงตำแหน่งเจ้านครรัฐฉินต่อมา

3. ฉินก้งกง : 秦共公

อิ๋งเจีย (嬴貑) โอรสของฉินคังกง จดหมายเหตุ “จั่วจ้วน 《左传》” มีการกล่าวถึง “ฉินซานกง (秦三公)” สื่อถึงเจ้าแคว้นฉิน 3 รุ่น ประกอบด้วย ฉินมู่กง ฉินคังกง และฉินก้งกง นั่นเองในยุคสมัยนี้ อ๋องแคว้นฉู่และ 1 ใน 5 อธิราช ฉู่จวงหวังได้กรีธาทัพบุกลั่วยี่ พระนครของราชวงศ์โจว เพื่อถามหากระถาง 3 ขา สัญลักษณ์แห่งการเป็นเจ้าใต้หล้า

ถือเป็นนัยหนึ่งที่แคว้นฉู่เป็นนครรัฐแห่งแรกในยุคเลียดก๊ก ที่สามารถปลดแอกจากอิทธิพลราชวงศ์โจวได้อย่างเรียบร้อย ต่อมานครรัฐฉู่ก็ปรับปรุงแคว้นของตัวเองให้มีสถานะเป็นกึ่ง ๆ รัฐอิสระ ที่พยายามไม่ตกในกรอบแห่งจารีตโจวอีกต่อไป นั่นทำให้บรรดาแคว้นอื่น ๆ ต่างพากันทยอยทำตามอีกด้วย ซึ่งจะทำได้สำเร็จจริง ๆ ในยุคจ้านกั๋ว

ฉินก้งกงปกครองแคว้นฉิน 5 ปี หากนับดูสายวงศ์ตระกูลแล้ว เขานับเป็นบรรพบุรุษขึ้นไป 9 รุ่นเลยทีเดียว และเป็นรุ่นแรกจากผังบรรพชน 18 รุ่น โดยเรียกว่า “ปี๋จู่ (鼻祖)” มีความหมายคือ พ่อของเทียดของเทียด

4. ฉินหวนกง : 秦桓公

อิ๋งหรง (嬴荣) โอรสของฉินก้งกง ในสมัยนี้ยังร่วมยุคกับฉู่จวงหวัง อธิราชแคว้นฉู่ อ๋องฉู่แผ่อิทธิพลด้วยการบุกแคว้นเจิ้ง (郑国) โดยแคว้นเจิ้ง นับเป็นแคว้นมากด้วยบารมีเป็นอย่างมากในต้นยุคชุนชิว เนื่องด้วยเป็นผู้นำที่พาแคว้นอื่น ๆ ขับไล่เฉวี่ยนหรงออกนอกเขตพระนครของโจวตะวันตกได้ รวมถึงทูลเชิญให้โจวผิงหวังย้ายเมืองหลวงไปทางตะวันออก แล้วเกิดเป็นราชวงศ์โจวตะวันออกในเวลาต่อมา ภายหลังแคว้นเจิ้งก็หมดอิทธิพลลงไป มีสถานะไม่ต่างจากนครรัฐเล็ก ๆ ท่ามกลางแคว้นมหาอำนาจอย่างจิ้นและฉู่

สำหรับในแคว้นฉิน ยังคงมีสงครามกับแคว้นจิ้นอยู่ตลอด ฉินหวนกงมีนโยบายให้แคว้นฉินเป็นพันธมิตรกับอนารยชนทางเหนือ – เป่ยตี๋ (北狄) บางกลุ่มเพื่อต่อต้านแคว้นจิ้น ฉินหวนกงปกครองแคว้นฉิน 27 ปี หากพิจารณาจากผังบรรพชน 18 รุ่น เขาจะอยู่รุ่นของ “หยวนจู่ (远祖)” ซึ่งแปลว่า เทียดของเทียด

5. ฉินจิ่งกง : 秦景公

อิ๋งสือ (嬴石) โอรสของฉินหวนกง ในยุคสมัยนี้เกิดเหตุการณ์โดดเด่นอย่าง สมรภูมิอวี้หลิน (域林之战) โดยมี จิ้นเต้ากง (晋悼公) เจ้านครรัฐจิ้นเป็นหัวหน้าพันธมิตร 13 แคว้น ได้แก่ แคว้นหลู่ (鲁国) แคว้นเหว้ย (卫国) แคว้นฉี (齐国) แคว้นซ่ง (宋国) แคว้นเฉา (曹国) แคว้นจวี่ (莒国) แคว้นจู (邾国) แคว้นเสี่ยวจู (小邾国) แคว้นเถิง (滕国) แคว้นเซว (薛国) แคว้นฉี่ (杞国) และแคว้นเจิ้ง ในการทำศึกกับแคว้นฉิน แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรฉินได้เลย รวมถึงขงจื่อ (孔子) หรือ “ขงจื๊อ” ก็มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลานี้เช่นกัน

ต่อมาในแคว้นจิ้นมีการเปลี่ยนเจ้านครรัฐ จิ้นผิงกง (晋平公) สืบตำแหน่งแทนจิ้นเต้ากงที่ด่วนอายุสั้น ฉินจิ่งกงเดินทางไปแคว้นจิ้นเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี ทว่าก็เป็นแค่ชั่วประเดี๋ยวประด๋าว เพราะท้ายที่สุดแคว้นฉินกับจิ้นก็แตกความสัมพันธ์อีกครั้ง อย่างไรก็ดี สถานการณ์แคว้นจิ้นก็นับว่าหมดยุคความเป็นเจ้าอิทธิพลลงอย่างถาวรแล้ว อาจถือได้ว่าเป็นเค้าลางแห่งความเสื่อมจนกระทั่งล่มสลายลงในต้นยุคจ้านกั๋วเลยก็ว่าได้

ฉินจิ่งกงมีชื่อเสียงในแง่สุสานที่ค้นพบเมื่อประมาณปี ค.ศ. 1976 ในมณฑลส่านซี (陕西省) เนื่องจากพบหลุมของผู้รับใช้ในปรโลกที่ถูกฝังทั้งเป็น โดยมากถึง 186 คน นับได้ว่าเป็นจำนวนที่มากที่สุดตั้งแต่ยุคชุนชิวเป็นต้นมา โดยวัฒนธรรมการฝังทั้งเป็น ปรากฏชัดเจนเมื่อครั้นรุ่นของเจ้าแคว้น ฉินอู่กง (秦武公) ซึ่งมีศักดิ์เป็นลุง หรือพี่ชายพ่อของ ฉินมู่กง และสำหรับสุสานของฉินมู่กงเองก็มีบันทึกจำนวนของผู้ถูกฝังทั้งเป็นเพียง 177 คนเท่านั้น

ฉินจิ่งกงปกครองแคว้นฉินนานถึง 40 ปี หากพิจารณาจากผังบรรพชน 18 รุ่น เขาจะอยู่ในรุ่น “ไท่จู่ (太祖)” หรือ ทวดของเทียด

6. ฉินอายกง : 秦哀公

โอรสของฉินจิ่งกง ไม่ปรากฏชื่อตัว อยู่ร่วมยุคกับราชาเหอหลวี (阖闾) อ๋องแคว้นอู๋ (吴国) เหอหลวีทำการบุกแคว้นฉู่ ซึ่งในขณะนั้น ฉิน – ฉู่ ได้เกี่ยวดองทางเครือญาติผ่านการแต่งงานแล้ว ฉู่เจาหวัง (楚昭王) หลานตาของฉินอายกง ขอความช่วยเหลือจากแคว้นฉิน ฉินส่งกำลังเสริมจนสามารถรับมือกับกองทัพของเหอหลวีได้ เรื่องราวดังกล่าวก็ปรากฏในวรรณกรรมจีนคลาสสิคอย่าง “ตงโจวเลี่ยกั๋วจื้อ 《东周列国志》” หรือเลียดก๊ก ด้วยเช่นเดียวกัน

ฉินอายกงเป็นเจ้าแคว้นฉินนาน 36 ปี หากพิจารณาจากผังบรรพชน 18 รุ่น เขาจะอยู่ในรุ่นของ “เลี่ยจู่ (烈祖)” หรือ ปู่ของเทียด

7. ฉินอี๋กง : 秦夷公

โอรสของฉินอายกง ไม่ปรากฏชื่อตัว อยู่ในฐานะรัชทายาทแคว้นฉิน เสียชีวิตก่อนฉินอายกงผู้เป็นบิดา จึงไม่ได้ปกครองนครรัฐ หลังฉินอายกงถึงแก่อสัญกรรมแล้ว หลานปู่ของฉินอายกงขึ้นสืบตำแหน่งเจ้านครรัฐฉินต่อมา

แม้ว่าฉินอี๋กงจะเสียชีวิตก่อนสืบทอดตำแหน่ง แต่ทายาทของเขาก็ถวายสมัญญานาม – ซื่อเฮ่า (谥号) ว่า “อี๋ (夷)” แล้วยังตั้งให้มีฐานะเสมือนเจ้าแคว้นอีกด้วย จึงเรียกว่า ฉินอี๋กง – ดยุคอี๋แห่งนครรัฐฉิน [Duke Yi of Qin] หรือ “เจ้าพระยาอี๋แห่งฉิน” นั่นเอง

หากพิจารณาจากผังบรรพชน 18 รุ่น เขาจะอยู่ในรุ่น “เทียนจู่ (天祖)” หรือ พ่อของเทียด

8. ฉินเฉียนฮุ่ยกง : 秦前惠公

บางครั้งเรียก ฉินฮุ่ยกงที่ 1 [Duke Hui (I)] โอรสของฉินอี๋กง ไม่ปรากฏชื่อตัว เนื่องจากฉินอี๋กงผู้เป็นบิดาได้เสียชีวิตลงก่อนหน้านี้ เมื่อฉินอายกง เจ้าแคว้นฉินถึงแก่อสัญกรรม ฉินเฉียนฮุ่ยกงจึงสืบตำแหน่งเจ้านครรัฐจากปู่

เรื่องราวในยุคสมัยนี้ คือ ตระกูลเสนาบดีรับใช้แคว้นจิ้นมายาวนาน กระทำการแข็งข้อต่อเจ้านครรัฐ นั่นทำให้สถานการณ์ในแคว้นจิ้นถดถอยอย่างกู่ไม่กลับอีกแล้ว ถือเป็นสัญญาณของการแตกตัวเป็นแคว้นย่อยในอนาคต รวมถึงภายในแคว้นหลู่ ข่งชิว (孔丘) หรือขงจื๊อ เข้ารับราชการเป็นเสนาบดีแห่งนครรัฐ

ฉินเฉียนฮุ่ยกงเป็นเจ้าแคว้นฉินนาน 10 ปี หากพิจารณาจากผังบรรพชน 18 รุ่น เขาจะอยู่ในรุ่นของ “เกาจู่ (高祖)” หรือ เทียด

9. ฉินเต้ากง : 秦悼公

บุตรของฉินเฉียนฮุ่ยกง ไม่ปรากฏชื่อตัว อยู่ร่วมยุคกับราชาฟูไช (夫差) โอรสของเหอหลวี อ๋องแคว้นอู๋คนสุดท้าย เรื่องราวที่เกิดขึ้นในยุคสมัยนี้ คือ ภายในแคว้นฉี ตระกูลเถียน (田) รับใช้เจ้านครรัฐในฐานะเสนาบดีมายาวนาน

เริ่มสะสมบารมีถึงขั้นลอบสังหารและตั้งเจ้าแคว้นได้เอง ถือเป็นสัญญาณของการเปลี่ยนผ่านอำนาจในสายตระกูลในอนาคต รวมถึงขงจื๊อก็ถึงแก่กรรมในช่วงของฉินเต้ากงปกครองนครรัฐฉินด้วยเช่นกัน

ฉินเต้ากงเป็นเจ้าแคว้นฉินนาน 14 ปี หากพิจารณาจากผังบรรพชน 18 รุ่น เขาจะอยู่ในรุ่นของ “เจิงจู่ (曾祖)” หรือ ทวด

10. ฉินลี่ก้งกง : 秦厉共公

โอรสของฉินเต้ากง ไม่ปรากฏชื่อตัว ถือได้ว่าเป็นเจ้าแคว้นฉินคนแรกในยุคจ้านกั๋ว เนื่องจากในยุคสมัยนี้เกิดเหตุการณ์สำคัญเปลี่ยนผ่านในประวัติศาสตร์จีน คือ นครรัฐจิ้นแตกย่อยออกเป็น 3 แคว้น (三家分晋) ได้แก่ แคว้นจ้าว (赵国) แคว้นเว่ย (魏国) และแคว้นหาน (韩国)

ฉินลี่ก้งกงปกครองแคว้นฉินนาน 34 ปี หากพิจารณาจากผังบรรพชน 18 รุ่น เขาจะอยู่ในรุ่นของ “จู่ (祖)” หรือ ปู่

11. ฉินจ้าวกง : 秦躁公

โอรสของฉินลี่ก้งกง ชื่อตัวไม่ชัดแจ้ง เหตุการณ์ในยุคสมัยนี้คือ แคว้นฉินยังคงเผชิญกับการต่อต้านของอนารยชนทางตะวันตกโดยเฉพาะชนเผ่า “อี้ฉวี (义渠)” รวมถึงมีการก่อกบฏจากทางใต้

ฉินจ้าวกงเป็นเจ้าแคว้นฉินนาน 14 ปี หลังถึงแก่อสัญกรรม น้องชายของเขาสืบตำแหน่งเจ้านครรัฐคนต่อมา ดังนั้น หากพิจารณาในลำดับเครือญาติ ฉินจ้าวกงจะเป็น “ป๋อฟู่ (伯父)” หรือ ลุง

12. ฉินไฮว๋กง : 秦怀公

ชื่อตัวไม่ชัดแจ้ง โอรสของฉินลี่ก้งกง หลังฉินจ้าวกงผู้เป็นพี่ชายเสียชีวิต เขาสืบตำแหน่งเจ้านครรัฐฉินต่อมา แต่ก็อยู่ได้ช่วงเวลาสั้น ๆ เนื่องจาก เฉา (鼌) ผู้บัญชาการทหารระดับสูงของแคว้น – ซู่จ่าง (庶长) ร่วมกับเหล่าเสนาบดีพากันบีบบังคับเจ้าแคว้น ทำให้ฉินไฮว๋กงตัดสินใจฆ่าตัวตาย

เนื่องจากในยุคสมัยฉินไฮว๋กง เขามีบุตรซึ่งมีฐานะเป็นรัชทายาทแคว้น – ไท่จื่อ (太子) ทว่ากลับเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ดังนั้น เมื่อฉินไฮว๋กงปลิดชีวิตตัวเองแล้ว บรรดาขุนนางจึงพากันยกโอรสของไท่จื่อให้เป็นเจ้าแคว้นฉินสืบมา

ฉินไฮว๋กงปกครองนครรัฐฉินเพียง 4 ปี หากพิจารณาจากผังบรรพชน 18 รุ่น เขาจะอยู่ในรุ่นของ “ฟู่ (父)” หรือ พ่อ

13. ฉินเจาจื่อ : 秦昭子

ปรากฏชื่อในเอกสารประวัติศาสตร์ว่า “เจาจื่อ (昭子)” โอรสของฉินไฮว๋กง มีฐานะเป็นรัชทายาทแคว้นฉิน เสียชีวิตตั้งแต่วัยเยาว์และลาโลกก่อนฉินไฮว๋กงผู้เป็นบิดา อย่างไรก็ดี ฉินเจาจื่อมีทายาท เมื่อฉินไฮว๋กงปลิดชีวิตตัวเองลงแล้ว บุตรของฉินเจาจื่อได้เป็นเจ้านครรัฐฉินคนต่อมาทันที

ฉินเจาจื่อ เป็นชื่อที่พบในหลักฐานประวัติศาสตร์ เขาไม่ได้รับการสถาปนาให้มีสถานะเทียบเท่าเจ้าแคว้นแต่อย่างใด ยังคงมีฐานะเป็นไท่จื่อเพียงเท่านั้น โดยผังบรรพบุรุษ 18 รุ่น ได้ใช้รุ่นของฉินเจาจื่อเป็นหมุดอ้างอิง หรือ “ตัวเอง – จื้อจี่ (自己)”ในการลำดับเครือญาติ

14. ฉินหลิงกง : 秦灵公

อิ๋งซู่ (嬴肃) โอรสของฉินเจาจื่อ หลังการเสียชีวิตของฉินไฮว๋กงผู้เป็นปู่ เขาสืบตำแหน่งเจ้าแคว้นฉิน เรื่องราวที่เกิดขึ้นในยุคสมัยนี้ คือ แคว้นฉินมีการปะทะกับแคว้นเว่ย โดยแคว้นเว่ยที่แยกตัวมาจากแคว้นจิ้นได้สร้างกำแพงเมืองไว้ที่เส้าเหลียง (少梁) แล้วทั้ง 2 ฝ่ายก็รบกัน ณ ที่นี้เอง

ฉินหลิงกงเป็นเจ้าแคว้นฉินนาน 10 ปี เมื่อเขาถึงแก่อสัญกรรมแล้ว บุตรของเขายังไม่ได้ขึ้นครองตำแหน่งเจ้านครรัฐ หากแต่มีการเปลี่ยนสาย โดยเจ้านครรัฐฉินถัดจากฉินหลิงกง คือ น้องชายของฉินเจาจื่อ ดังนั้น หากพิจารณาจากผังบรรพบุรุษ 18 รุ่น ฉินหลิงกงอยู่ในรุ่นของ “จื่อ (子)” หรือ ลูก

15. ฉินเจี่ยนกง : 秦简公

อิ๋งเต้าจื่อ (嬴悼子) โอรสของฉินไฮว๋กง น้องของฉินเจาจื่อ หลังการเสียชีวิตของฉินหลิงกงผู้เป็นหลานแล้ว ภายในนครรัฐฉินขณะนั้น ไม่มีใครเหมาะสมกับตำแหน่งเจ้าแคว้นได้เท่าเต้าจื่ออีกแล้ว ดังนั้น ฉินเจี่ยนกงผู้เป็นอาของฉินหลิงกง จึงได้ปกครองแคว้นฉินต่อมา

ช่วงระยะเวลานี้ สาแหรกเจ้านครรัฐฉินมีการเปลี่ยนโอนสายเล็กน้อย เรื่องราวที่น่าสนใจคือ ในยุคสมัยของฉินเจี่ยนกง เป็นครั้งแรกในแคว้นฉินที่อนุญาตให้บรรดาขุนนางสามารถพกกระบี่ในรัฐบาลแคว้นได้

ฉินเจี่ยนกงเป็นเจ้านครรัฐฉินเวลา 16 ปี บุตรชายของเขาสืบตำแหน่งต่อ เมื่อมาพิจารณาในลำดับเครือญาติ เขาจะเป็น “ตี้ติ (弟弟)” หรือน้องชาย

16. ฉินโฮ่วฮุ่ยกง : 秦后惠公

ชื่อตัวไม่ชัดแจ้ง บางครั้งเรียก ฉินฮุ่ยกงที่ 2 [Duke Hui (II)] โอรสของฉินเจี่ยนกง เรื่องราวในยุคสมัยนี้ คือ ฉินมีการปะทะกับแคว้นสู่ (蜀国) ในซื่อชวน (四川) หรือเสฉวน และสามารถเอาชนะศึกได้ โดยแคว้นสู่มีวัฒนธรรมของตัวเองมาแต่ดึกดำบรรพ์

ในสมัยราชวงศ์ซาง (商朝) พวกเขาไม่ได้อยู่ในระบบใต้หล้าตามคติของชาวฮว๋าเซี่ย (华夏) ในภาคกลาง ถือเป็นอาณาจักรโบราณแห่งหนึ่งในแผ่นดินจีนปัจจุบัน นอกจากนี้ ภายในแคว้นฉี ตระกูลเถียนสามารถยึดครองนครรัฐแทนตระกูลเจียง (姜) ที่ปกครองมาตั้งแต่สมัยเป็นแคว้นใต้อาณัติราชอาณาจักรโจว ทำให้สายตระกูลเจ้านครรัฐฉีเปลี่ยนไปถาวร

ฉินโฮ่วฮุ่ยกงเป็นเจ้าแคว้นฉิน 13 ปี บุตรชายของเขาสืบตำแหน่งต่อ เมื่อพิจารณาจากลำดับเครือญาติ เขาเป็น “จื๋อจื่อ (侄子)” หรือ ลูกของน้องชาย

17. ฉินชูกง : 秦出公

ชื่อตัวไม่ชัดแจ้ง โอรสของฉินโฮ่วฮุ่ยกง ขึ้นเป็นเจ้าแคว้นฉินตั้งแต่วัยเยาว์โดยมีมารดาเป็นผู้ค้ำชู ทว่า แม่ของฉินชูกงมีเรื่องอื้อฉาวกับมหาดเล็กในตำหนัก – ฮ่วนกวน (宦官) ที่รับใช้ในตำแหน่งขันทีเพื่อบังหน้า

เมื่อเจ้าแคว้นยังไร้เดียงสา ซู่จ๋างก่าย (庶长改) ผู้บัญชาการทหารระดับสูงก่อรัฐประหาร จับ 2 แม่ลูกสังหารเสียแล้วทิ้งศพลงแม่น้ำ พร้อมกับเชิญให้บุตรของฉินหลิงกง กลับมาเป็นเจ้านครรัฐ ดังนั้นสายตระกูลเจ้าแคว้นฉิน จึงกลับมาเป็นสายหลักดังเดิมอีกครั้ง

ฉินชูกงเป็นเจ้าแคว้นฉิน 2 ปี หลังถูกสังหาร บุตรของฉินหลิงกงได้เป็นเจ้าแคว้น สายสาขาของฉินเจี่ยนกงก็จบลงที่รุ่นนี้ เมื่อพิจารณาจากลำดับเครือญาติ เขาเป็น “จื๋อซุน (侄孙)” หรือ หลานของน้องชาย

18. ฉินเซี่ยนกง : 秦献公

อิ๋งเหลียน (嬴连) โอรสของฉินหลิงกง เมื่อครั้นพ่อของเขาถึงแก่อสัญกรรม ขณะนั้น ท่านชายเหลียน – กงจื่อเหลียน (公子连) ยังพำนักที่แคว้นเว่ย ทำให้ไม่สามารถกลับมารับตำแหน่งได้ เต้าจื่อผู้เป็นปู่น้อย หรือน้องชายปู่ จึงขึ้นเป็นฉินเจี่ยนกง สาแหรกตระกูลเจ้านครรัฐเปลี่ยนสายไปชั่วเวลาหนึ่ง

จวบจนซู่จ๋างก่ายก่อรัฐประหารภายในแคว้น ฉินชูกงพร้อมมารดาถูกสังหาร ก่ายและบรรดาขุนนางทูลเชิญให้กงจื่อเหลียนกลับมาเป็นเจ้าแคว้น เขาจึงเป็นที่รู้จักในประวัติศาสตร์ว่า “ฉินเซี่ยนกง”

สถานการณ์ในยุคสมัยฉินเซี่ยนกง แคว้นฉินยังแสดงความภักดีต่อราชวงศ์โจว สังเกตได้จากแคว้นจิ้นที่แตกออกเป็น จ้าว เว่ย หาน ได้มาระรานบริเวณเขตพื้นที่นครหลวงของโจว ราชสำนักโจวส่งคนไปขอความช่วยเหลือที่แคว้นฉิน ฉินเซี่ยนกงทำสงคราม ณ สือเหมิน (石门) ตัดหัวข้าศึกได้มากถึง 60,000 คน

พระเจ้าโจวเสี่ยนหวัง (周显王) โอรสสวรรค์ซาบซึ้งในน้ำใจ ได้พระราชทานอาภรณ์เชิดชูเกียรติ หลังจากนั้นแคว้นฉินก็มีการปะทะกับแคว้นเว่ยอยู่ตลอด เนื่องจากช่วงเวลานี้ นครรัฐเว่ยมีฐานะเป็นอธิราชแห่งจงหยวนเรียบร้อยแล้ว

ฉินเซี่ยนกงเป็นเจ้าแคว้นฉิน 24 ปี หากพิจารณาจากผังบรรพชน 18 รุ่น เขาจะอยู่ในรุ่น “ซุน (孙)” หรือ หลาน

19. ฉินเซี่ยวกง : 秦孝公

อิ๋งฉวีเหลียง (嬴渠梁) โอรสของฉินเซี่ยนกง ตั้งแต่ยุคสมัยนี้เป็นต้นไป แคว้นฉินมีการพัฒนาภายในนครรัฐอยู่ตลอด เป็นการวางรากฐานให้แคว้นฉินในการก้าวสู่อาณาจักรมหาอำนาจ โดยเฉพาะเมื่อฉินเซี่ยวกงได้ผู้ช่วยมาปฏิรูปแคว้น เขาผู้นั้นเป็นชาวแคว้นเหว้ย แซ่กงซุน (公孙) รู้จักกันในนาม “ซางยาง (商鞅)”

การปฏิรูปแคว้นฉินของซางยาง ทำให้นครรัฐฉินพัฒนาแบบก้าวกระโดด สิ่งที่เขาปฏิรูปพอสังเขปมีดังนี้ ปรับปรุงระบบที่ดิน ให้ราษฎรฉินครอบครองที่ดินได้ นำระบบภาษีเข้ามาใช้ ลดทอนอิทธิพลเจ้าขุนมูลนายเดิม ปรับปรุงระบบราชการ มีการปูนบำเหน็จและลงโทษอย่างเป็นระบบตามความสามารถและผลงาน

ปรับปรุงการบริหารส่วนท้องถิ่น ด้วยการแบ่งนครรัฐฉินเป็นอำเภอ – เซี่ยน (县) หน่วยงานรัฐสอดส่องได้ถึงระดับครัวเรือน แล้วยังจัดตั้งระบบสำมะโนประชากรให้มีประสิทธิภาพอีกด้วย รวมถึงย้ายเมืองหลวงของแคว้นไปที่ เสียนหยาง (咸阳) ซึ่งถือเป็นพระนครแห่งสุดท้ายของฉิน

หลักการที่ซางยางยึดถือ คือ สำนักนิตินิยม – ฝ่าเจีย (法家) ว่าด้วยให้ความสำคัญกับกฎหมายและระเบียบอย่างเคร่งครัด นั่นทำให้แคว้นฉินเข้มแข็งทางด้านการทหารและการปกครอง ถึงขนาดมีคำกล่าวโดยอนุชนรุ่นหลังว่า “แม้กษัตริย์จะพำนักที่ลั่วยี่ หากแต่เจ้าแผ่นดินจริง ๆ กำลังบัญชาการที่เสียนหยาง”

ฉินเซี่ยวกงเป็นเจ้าแคว้นฉิน 24 ปี หากพิจารณาจากผังบรรพชน 18 รุ่น เขาจะอยู่ในรุ่น “เจิงซุน (曾孙)” หรือ เหลน

20. ฉินฮุ่ยเหวินหวัง : 秦惠文王

อิ๋งอิน (嬴駰) โอรสของฉินเซี่ยวกง เจ้าแคว้นฉินคนแรกที่สถาปนาตำแหน่งเจ้านครรัฐจากเดิมที่มีฐานะเพียง เจ้าพระยา – ดยุค – กง (公) ให้กลายเป็นกษัตริย์ – หวัง (王) หรืออ๋อง ในรัชสมัยนี้ แคว้นฉินสามารถผนวกดินแดนเสฉวนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของนครรัฐได้ โดยแคว้นสู่ และแคว้นปา (巴国) กลายเป็นเพียงดินแดนการปกครองหนึ่งของฉินเท่านั้น

ฉินฮุ่ยเหวินอ๋อง ถือเป็นราชาคนแรกที่ใช้ระบบเงินตราเป็นเหรียญวงกลม เรียกว่า “ป้านเหลี่ยง (半两)” บนพื้นฐานของคติแผ่นดินเหลี่ยม แผ่นฟ้าโค้งของชาวฮว๋าเซี่ย นับเป็นการรับวัฒนธรรมที่สูงส่งกว่า ให้แคว้นตัวเองดูมีอารยะ

นอกจากนี้พระองค์ยังมีสนมจากแคว้นฉู่ ซึ่งต่อมาภายหลังก็ได้เป็นไท่โฮ่ว – ไทเฮา (太后) คนแรกในประวัติศาสตร์จีน สตรีนางนี้ก็คือ เซวียนไทเฮา (宣太后) หรือที่รู้จักกันในชื่อ หมี่เยว่ (芈月) สนมชั้นปาจื่อ (八子) แล้วไต่เต้าขึ้นเป็นมเหสี จากนั้นก็เป็นพระพันปีหลวง

ฉินฮุ่ยเหวินหวังปกครองแคว้นฉินนาน 27 ปี หากพิจารณาจากผังบรรพชน 18 รุ่น เขาอยู่ในรุ่น “เสวียนซุน (玄孙)” หรือ ลื่อ ซึ่งจริง ๆ แล้วคำว่า โหลน เป็นเพียงคำสร้อยที่พบในบทประพันธ์ “ลูกหลานเหลนโหลน” ส่วนคำไว้ใช้เรียกลูกของเหลน คือคำว่า “ลื่อ”

21. ฉินเจาเซียงหวัง : 秦昭襄王

อิ๋งจี้ (嬴稷) โอรสของฉินฮุ่ยเหวินหวังกับเซวียนไทเฮา เมื่อครั้นพระบิดาสิ้นพระชนม์ลง คนที่เป็นอ๋องสืบต่อ คือ ฉินอู่หวัง (秦武王) พี่ชายของอิ๋งจี้ ทว่า กลับครองราชย์แค่เพียง 4 ปี ก็สวรรคตจากอุบัติเหตุ อิ๋งจี้ผู้เป็นน้องชายจึงสืบตำแหน่งอ๋องต่อมา รู้จักกันในนาม ฉินเจาเซียงหวัง

เหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยนี้ คือ หลังฉินเจาเซียงหวังถ่ายโอนพระราชอำนาจจากเซวียนไทเฮา ผู้เป็นพระมารดา มาเป็นของตัวเองเรียบร้อยแล้ว ขณะนั้นแคว้นที่ทรงอิทธิพลและเป็นหอกข้างแคร่ของฉิน คือ แคว้นจ้าว

ฉินเจาเซียงหวังทำสงครามกับแคว้นจ้าวในสมรภูมิฉางผิง (长平之战) ซึ่งนับได้ว่าเป็นสงครามที่มีการล้างผลาญมากที่สุดในยุคจ้านกั๋ว แม้แคว้นฉินจะสามารถฝังทั้งเป็นทหารจ้าวได้ถึง 450,000 คน ตามหลักฐานในสื่อจี้ 《史记》และพงศาวดารคันฉ่องส่องการปกครอง – จือจื้อทงเจี้ยน 《资治通鉴》ถึงอย่างไรก็ยังไม่สามารถพิชิตนครหานตาน (邯郸) เมืองหลวงแคว้นจ้าวได้

แล้วแคว้นฉินยังพลาดท่าให้กับแคว้นจ้าวในภายหลังอีกด้วย เนื่องจากแคว้นจ้าวได้แคว้นฉู่มาเป็นพันธมิตร นั่นทำให้ฉินเจาเซียงหวังต้องเบนเข็มหันไปโจมตีลั่วยี่ พระนครของราชสำนักโจวแทน กองทัพฉินประชิดอยู่นอกกรุง พระเจ้าโจวหน่านหวัง (周赧王) กษัตริย์คนที่ 25 และคนสุดท้ายของโจวตะวันออกต้องยอมจำนน จึงเป็นการปิดฉากราชวงศ์โจว หากนับตั้งแต่รุ่นโจวอู่หวัง (周武王) ถือได้ว่านี่เป็นราชวงศ์ที่มีอายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์จีน คือ ประมาณ 800 ปี เลยทีเดียว

อย่างไรก็ดี ในการเมืองฉิน มีการส่งเชื้อพระวงศ์รุ่นหลานของฉินเจาเซียงหวังไปเป็นองค์ประกันที่นครรัฐจ้าว ซึ่งภายหลังเขาคนนี้จะกลับมาเป็นเจ้าแคว้นฉิน ด้วยการวางแผนของคหบดีที่มากด้วยอิทธิพลก่อนยุคจิ๋นซี

ฉินเจาเซียงหวังปกครองนครรัฐฉินเป็นเวลานานถึง 56 ปี ถือว่านานที่สุดในประวัติศาสตร์ฉิน หากพิจารณาจากผังบรรพชน 18 รุ่น พระองค์จะอยู่ในรุ่น “ไหลซุน (来孙)” หรือ ลืบ

22. ฉินเซี่ยวเหวินหวัง : 秦孝文王

อิ๋งจู้ (嬴柱) โอรสของฉินเจาเซียงหวัง แล้วยังเป็นบิดาของเชื้อพระวงศ์ฉินที่เป็นองค์ประกันในแคว้นจ้าว หลังฉินเจาเซียงหวัง พระบิดา ล้มล้างราชวงศ์โจวตะวันออกและยกเลิกฐานะโอรสสวรรค์ได้ไม่นานก็สิ้นพระชนม์ อิ๋งจู้ขึ้นครองราชย์เป็นอ๋อง แต่ก็อยู่ในราชบัลลังก์ได้แค่ 3 วันก็สวรรคต

มีทฤษฎีว่าเป็นฝีมือของ “หลวี่ปู้เหวย (吕不韦)” คหบดีผู้พา จื๋อฉู่ (子楚) ตัวประกันในแคว้นจ้าว กลับมาตุภูมิได้อย่างปลอดภัย อีกทั้งยังให้สืบบัลลังก์อ๋องต่ออีกด้วย

หากพิจารณาจากผังบรรพชน 18 รุ่น พระองค์อยู่ในรุ่นของ “คุนซุน (晜孙)” หรือ ลืด

23. ฉินจวงเซียงหวัง : 秦庄襄王

อิ๋งอี้เหริน (嬴异人) โอรสของฉินเซี่ยวเหวินหวัง ในรัชสมัยฉินเจาเซียงหวัง อี้เหรินถูกส่งเป็นองค์ประกันที่แคว้นจ้าว ทว่า มีคหบดีคนหนึ่งกำลังคิดผลกำไรว่าหากลงทุนกับองค์ชายคนนี้ให้ได้กลับไปครองแคว้นฉิน เขาจะมากด้วยอำนาจและยศศักดิ์ เขาผู้นี้ก็คือ หลวี่ปู้เหวย จากนั้นหลวี่ก็พาตัวอี้เหรินลี้ภัยกลับแคว้นฉินได้อย่างปลอดภัย อีกทั้งยังให้นางบำเรอของตัวเองไปแต่งงานกับอี้เหรินอีกด้วย

อี้เหรินกลับแคว้นฉินได้ หลวี่ปู้เหวยก็วางแผนต่อเลย เนื่องจากอี้เหรินไม่ใช่โอรสคนโตของฉินเซี่ยวเหวินหวัง นั่นทำให้เขาหมดสิทธิ์ในราชบัลลังก์ตามกฎมณเฑียรบาล แต่ชั้นเชิงของหลวี่ปู้เหวยก็คือ ให้อี้เหรินเป็นบุตรบุญธรรมมเหสีคนโปรดของฉินเซี่ยวเหวินหวัง นางเป็นสตรีจากแคว้นฉู่ นั่นจึงเป็นเหตุที่ว่า ทำไมอี้เหรินถึงมีอีกชื่อในประวัติศาสตร์ว่า “จื๋อฉู่”

ในที่สุดอี้เหรินก็ได้เป็นไท่จื่อนครรัฐฉิน ต่อมาเมื่อพ่อของอี้เหรินเป็นอ๋องได้ไม่กี่วันก็สิ้นพระชนม์ อี้เหรินขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์พระนาม ฉินจวงเซียงหวัง ส่วนภรรยาที่เคยเป็นนางรำของหลวี่ปู้เหวยกับลูกที่เกิด ก็ให้กลับบ้านมาเจอกันที่แคว้นฉิน โดยในรัชกาลนี้ คนที่กุมบังเหียนฉินอย่างแท้จริงไม่ใครอื่น เค้าก็คือ หลวี่ปู้เหวย นักเก็งกำไรที่วางแผนเรื่องราวมาตั้งแต่ต้นนั่นเอง

ฉินจวงเซียงหวังเป็นกษัตริย์ฉินได้เพียง 4 ปีก็สวรรคต โอรสเขาสืบตำแหน่งอ๋องต่อ คนนี้แหละครับที่จะกลายเป็น ปฐมจักรพรรดิแห่งแผ่นดินจีนในอนาคต หากพิจารณาจากผังบรรพบุรุษ 18 รุ่น อี้เหรินอยู่ในรุ่น “เหริงซุน (仍孙)” หรือ ลูกของลืด

24. ฉินสื่อหวง : 秦始皇

อิ๋งเจิ้ง (嬴政) โอรสของฉินจวงเซียงหวัง บัณฑิตสมัยราชวงศ์ฮั่น (汉朝) ต้องการดิสเครดิตว่าทรงเป็นบุตรนอกสมรสของหลวี่ปู้เหวยกับนางรำ “จ้าวจี (赵姬)” แทนที่จะเป็นลูกของอี้เหริน เนื่องจากเป็นการด่าในหน้าประวัติศาสตร์ว่าอิ๋งเจิ้งเป็นเด็กนอกคอก

หลังการสิ้นพระชนม์ของฉินจวงเซียงหวัง อิ๋งเจิ้งสืบตำแหน่งอ๋องต่อขณะที่มีอายุเพียง 13 ชันษา สิ่งแรกที่เขากระทำคือกำจัดขั้วอำนาจของหลวี่ปู้เหวย ที่มีฐานะเป็นถึง “จ้งฟู่ – พ่อรอง (仲父)”ให้หมดไป แล้วยังมีการกบฏจาก “เล่าไอ่ (嫪毐)” ชู้ของแม่ตัวเองอีกด้วย ถึงอย่างไร อิ๋งเจิ้งก็สามารถขจัดภัยได้อย่างเรียบร้อย นำไปสู่การวางแผนขยายดินแดนเพื่อรวมแผ่นดินให้อยู่ใต้อำนาจฉินต่อไป

ตั้งแต่รุ่นฉินเจาเซียงหวัง ที่มีศักดิ์เป็นปู่ทวดของอิ๋งเจิ้ง นโยบายที่แคว้นฉินใช้ในการศึกตลอดได้ถูกจัดเป็น 1 ใน 36 กลยุทธ์พิชัยสงคราม (三十六计) นั่นก็คือ “กลยุทธ์คบไกลตีใกล้ (远交近攻)” ซึ่งหลักการนี้ อิ๋งเจิ้งก็ไว้ใช้ในการกำราบนครรัฐอิสระที่เหลือรอดในปลายยุคจ้านกั๋ว

อิ๋งเจิ้งรวบรวมแผ่นดินด้วยการพิชิต 6 แคว้นให้รวมเข้ากับฉิน เริ่มจากนครรัฐบ้านใกล้เรือนเคียงอย่าง หาน จ้าว เว่ย ฉู่ สุดท้ายก็เผด็จศึกด้วยการยึดแคว้นเยียน (燕国) แคว้นฉี

อิ๋งเจิ้งใช้เวลาเพียงแค่ 10 ปีเท่านั้นในการรวมทุกนครรัฐให้อยู่ใต้อาณาจักรฉิน นี่เป็นสิ่งที่นักประวัติศาสตร์แบ่งแยกว่า เป็นการรวมแผ่นดินจีนให้เป็น “จักรวรรดิ [Empire]” เป็นครั้งแรก จีนเข้าสู่ยุคจักรวรรดิ [Imperial China] อย่างเป็นทางการ

สังเกตได้จาก เดิมทีตำแหน่งกษัตริย์จะมีฐานะเพียงแค่ อ๋อง อิ๋งเจิ้งมองว่าเป็นฐานันดรที่ต่ำไป ไม่คู่ควรกับผลงานชิ้นโบว์แดงของเขา พระองค์จึงสรรหาคำเรียกประมุขใหม่ โดยนำคำว่า หวง (皇) กับ ตี้ (帝) ในซานหวงอู่ตี้ (三皇五帝) มารวมกันเป็นฐานะใหม่ คือ หวงตี้ (皇帝) หรือฮ่องเต้ นั่นเอง

กล่าวได้ว่า อิ๋งเจิ้ง คือคนที่ยกระดับฐานะผู้นำจีนจาก กษัตริย์ [King] ให้กลายเป็น จักรพรรดิ [Emperor] ดังนั้นทรงเป็นฮ่องเต้พระองค์แรกในประวัติศาสตร์จีน ราชวงศ์ที่อิ๋งเจิ้งปกครอง จึงเรียกว่า “ราชวงศ์ฉิน (秦朝)”

จักรพรรดิอิ๋งเจิ้งยกเลิกธรรมเนียมการถวายสมัญญานามหรือชื่อหลังมรณกรรม ซึ่งเป็นขนบธรรมเนียมจากราชวงศ์โจว เนื่องด้วยไม่ต้องการให้เกิดค่านิยมขุนนางวิจารณ์เจ้า บุตรตำหนิบิดา ในการเรียกฮ่องเต้ฉินจะเป็นการเรียกแบบลำดับไปเรื่อย ๆ ไม่สิ้นสุด เราจึงเห็นอิ๋งเจิ้งในพระนามว่า “ฉินสื่อหวง [Qin Shi Huang]” หรือ “จิ๋นซีฮ่องเต้” ซึ่งมีความหมาย คือ “ปฐมจักรพรรดิแห่งฉิน” นั่นเอง

นโยบายของจิ๋นซีฮ่องเต้ใช้ปกครองจักรวรรดิฉิน [Qin Empire] แจกแจงได้ดังนี้ รวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ซึ่งเป็นผลพวงของการปฏิรูปแคว้นฉินโดยซางยาง สมัยฉินเซี่ยวกง จัดระบบการปกครองส่วนภูมิภาคให้เป็น จังหวัด – จวิ้น (郡) กับ อำเภอ – เซี่ยน โดยขุนนางท้องถิ่นต้องมาจากราชสำนักโดยตรง แล้วจะมีการโยกย้ายอยู่สม่ำเสมอ

ยกเลิกฐานะอ๋องและเจ้าแคว้น – จูโหว (诸侯) อีกทั้งมีคำสั่งให้ใช้ตัวอักษร ระบบการเขียน มาตรวัด การชั่ง การตวง และระบบเงินตราให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งจักรวรรดิ โดยยึดของฉินดั้งเดิมเป็นหลัก ถือเป็นการสลายความหลากหลายทางวัฒนธรรมของแต่ละแคว้นในยุคจ้านกั๋วให้มลายหมดสิ้น

ธรรมนูญการปกครองฉินใช้หลักฝ่าเจียตั้งแต่คราวรุ่นฉินเซี่ยวกงจากการปฏิรูปของซางยาง สำนักแนวคิดใดที่หมิ่นเหม่ต่อการปกครองบของราชสำนักจะถูกกีดกันและทำลายตำราทิ้งในทันที หากบัณฑิตคนไหนแข็งข้อก็จะถูกประหารด้วยการฝังทั้งเป็น

ถึงอย่างไร จิ๋นซีฮ่องเต้ก็หมายมั่นที่อยากมีชีวิตเป็นอมตะ แต่พระองค์ก็หลีกหนีความตายไม่พ้น สวรรคตขณะประพาสนอกพระนคร ราชสมบัติตามกฎมณเฑียรบาลควรตกเป็นของโอรสคนโตสุด นามว่า “ฝูซู (扶苏)” ทว่า เกมการเมืองที่เป็นภัยร้ายสั่นคลอนราชวงศ์ฉินกำลังจะตามมา องค์ชายฝูซูจะได้ขึ้นเป็นจักรพรรดิหรือไม่ โปรดติดตามต่อได้เลย

จิ๋นซีฮ่องเต้เป็นจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ฉิน 11 ปี หากรวมระยะเวลาตอนเป็นกษัตริย์แคว้นฉินด้วยก็จะเป็น 37 ปี โดยเป็นอ๋องนานถึง 26 ปี เมื่อพิจารณาจากผังบรรพชน 18 รุ่น จิ๋นซีฮ่องเต้จะอยู่ในรุ่น “อวิ๋นซุน (云孙)” แปลว่า หลานของลืด

25. ฉินเอ้อร์ซื่อ : 秦二世

อิ๋งหูไฮ่ (嬴胡亥) โอรสคนสุดท้องของจิ๋นซีฮ่องเต้ ในวัยเยาว์ถูกอบรมโดยมหาดเล็กฝ่ายใน – ฮ่วนกวน ที่ต่อมาได้เป็นขุนนางตำแหน่ง “เจ้ากรมราชพาหนะ (中车府令)” นามว่า “จ้าวเกา (赵高)” อดีตอภิสิทธิ์ชนแคว้นจ้าวแล้วกลายเป็นเชลยในจักรวรรดิฉิน

เมื่อคราวจิ๋นซีฮ่องเต้สวรรคต จ้าวเกาสมคบคิดกับหลี่ซือ (李斯) ในการปลอมราชโองการให้ฝูซู โอรสใหญ่ของจิ๋นซีฮ่องเต้ฆ่าตัวตายเสีย ในตอนนั้น ฝูซูกำลังรักษาการณ์บริเวณชายแดนจักรวรรดิทางตอนเหนือเพื่อดูแลการก่อสร้างฉางเฉิง – กำแพงเมืองจีน (长城) ทันทีที่ราชโองการไปถึง ฝูซูก็รีบชักดาบปลิดชีวิตตัวเองลงในทันที

เมื่อจ้าวเกา หลี่ซือ ขนพระบรมศพจิ๋นซีฮ่องเต้กลับเข้ากรุงเสียนหยางเรียบร้อยแล้ว ก็รีบทูลเชิญให้องค์ชายหูไฮ่เถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นฮ่องเต้ทันที ขานพระองค์ว่า “ฉินเอ้อร์ซื่อ [Qin Er Shi]” มีความหมาย “จักรพรรดิคนที่ 2 แห่งฉิน”

ต้นรัชกาลฉินเอ้อร์ซื่อ หลี่ซือมีฐานะเป็นถึงอัครมหาเสนาบดี – เฉิงเซี่ยง (丞相) เปรียบเสมือนหัวหน้ารัฐบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน ฮ่องเต้คนใหม่มีกิจวัตรประจำวันไร้สาระ วัน ๆ มัวแต่ลุ่มหลงสุรานารีภายใต้การอภิบาลของจ้าวเกา

นานวันเข้า เมื่อท้องพระคลังเริ่มร่อยหรอ จากการสร้างกำแพงเมืองเพื่อป้องกันการรุกรานของเผ่าซยงหนู (匈奴) การสร้างสุสานของจิ๋นซีฮ่องเต้ผู้ลาลับ รวมถึงการแต่งเติมพระราชวังเออผาง (阿房宫) หลี่ซือเข้ามากราบทูลฉินเอ้อร์ซื่อว่า ขอให้ทรงเพลา ๆ ลงหน่อยพะย่ะค่ะ อยากให้ฝ่าพระบาทคำนึงถึงอนาคตของบ้านเมืองไว้ด้วย

จ้าวเกาเห็นว่า หลี่ซือเริ่มแข็งข้อกับตัวเอง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ 2 คนเป็นผู้ชักจูงให้ฉินเอ้อร์ซื่อทำการกำจัดเหล่าพี่ชายของตัวเองให้หมด ป้องกันเป็นหอกข้างแคร่ในภายหลัง ส่งผลให้เชื้อพระวงศ์ฉินลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว จ้าวเกาที่ดูเชิงสถานการณ์ตลอดแล้วเห็นท่าทีของหลี่ซือที่จะเริ่มเป็นภัยกับตัวเอง จึงเพ็ดทูลให้ฮ่องเต้ทราบว่าหลี่ซืออาจคิดการไม่ซื่อ ฉินเอ้อร์ซื่อหลงเชื่อจึงมีคำสั่งให้จ้าวเกาสะสางปัญหานี้ทันที

หลี่ซือไม่ทันเกมของจ้าวเกา เขาไม่สามารถทนการทรมานได้อีกต่อไปจึงรับสารภาพว่าจะคิดการใหญ่จริง ในที่สุดเขากับลูกชายก็ถูกประหาร เมื่อสิ้นหลี่ซือแล้ว คนที่เป็นอัครมหาเสนาบดีต่อไม่ใช่ใครที่ไหน ก็จ้าวเกานั่นแหละ ณ เวลานี้ เขาจึงไม่ต่างจากผู้กุมชะตาชีวิตทุกคนบนแผ่นดินจีน

ฉินเอ้อร์ซื่อเติบโตขึ้นทุกวัน เริ่มคิดได้ว่าคนอย่างจ้าวเกา หากปล่อยเอาไว้ย่อมเป็นภัยต่อแผ่นดิน ของแบบนี้มีหรือที่จ้าวเกาจะไม่ทราบความคิดจักรพรรดิองค์น้อย และแล้วจ้าวเกาก็เป็นฝ่ายชิงลงมือก่อน แผนการที่จ้าวเกาใช้กำจัดฉินเอ้อร์ซื่อกลายเป็นที่มาของสำนวนจีนอันโด่งดัง “ชี้กวางเป็นม้า (指鹿为马)”

ฉินเอ้อร์ซื่อเป็นจักรพรรดิประมาณ 2 ปี ก็ถูกกลุ่มของจ้าวเกาสังหาร จ้าวเกาเห็นว่าสถานการณ์จักรวรรดิฉินช่วงนั้นเริ่มร่อแร่แล้วเพราะเกิดกบฏชาวนาต่อต้านไปทั่ว จ้าวเกาจึงสรรหาเชื้อพระวงศ์ฉินที่เหลือรอด โดยในสื่อจี้อ้างว่าเป็นบุตรของฝูซูให้มาเป็นประมุขหุ่นเชิดต่อ แล้วยังลดฐานะลง ไม่ให้ใช้คำว่าจักรพรรดิ – ฮ่องเต้อีกแล้ว แต่ให้กลับไปใช้คำว่ากษัตริย์ หรืออ๋องแทน

สุดท้ายองค์ชายคนนี้ หรือ พระเจ้าฉินซานซื่อ (秦三世) เป็นผู้สังหารจ้าวเกาได้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ฉินไปไม่รอดอีกแล้ว กษัตริย์คนสุดท้ายจัดการความสงบเรียบร้อยในวังหลวง กระทั่งกลุ่มกบฏของหลิวปัง (刘邦) มาถึงเสียนหยาง พระเจ้าฉินซานซื่อ หรืออิ๋งจื่ออิง (嬴子婴) มอบตราหยกเพื่อแสดงความยอมจำนน

หลังจากนั้นไม่นาน กลุ่มของเซี่ยงอวี่ (项羽) ก็บุกถึงพระราชวังหลวง เซี่ยงอวี่ทำการสังหารฉินซานซื่อและเชื้อพระวงศ์ฉินในเออผางกงทิ้งหมด แล้วยังเผาทำลายพระราชวังหลวงของฉินด้วย ปิดฉากเรื่องราวของราชวงศ์ฉินลงเพียงเท่านี้

ดังนั้นหากพิจารณาจากผังบรรพชน 18 รุ่น จักรพรรดิฉินเอ้อร์ซื่อจะเป็นรุ่นสุดท้าย โดยเป็นรุ่นของ “เอ่อร์ซุน (耳孙)” หรือ เหลนของลืด นั่นเอง


ติดตามพวกเรา

ใครสนใจประวัติศาตร์จีนเรื่องนี้ต่อ คืนวันศุกร์ที่ 1 ก.ค. นี้ ทุ่มตรง อย่าลืมติดตามรายการ “ประวัติจีนกับเจมส์” ได้ทางช่องยูทูบ Roundfinger Channel นะครับ


บทความนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง Jamez Wenzong 文宗 และ Tutustory 图图是道 ยังไงฝากติดตามพวกเราทั้งคู่ด้วยนะครับ


ติดตาม Tutustory 图图是道 และเรื่องราวภาษาจีนย่อยง่ายๆ ด้วยภาพ หรือมีเรื่องอะไรเกี่ยวกับภาษาจีนมาคุยกันได้ที่


ติดตาม Jamez Wenzong 文宗 ได้ทาง

แหล่งอ้างอิง

  • {1} จีนยุคบุราณรัฐ ; วรศักดิ์ มหัทธโนบล
  • {2} พลิกสุสาน อ่านจิ๋นซี ; สมชาย จิว
  • {3} เจาะลึกเรื่องจิ๋นซี ; เล่าชวนหัว
  • {4} เลียดก๊ก ฉบับคนรุ่นใหม่ ; เล่าชวนหัว
  • {5} 100 จักรพรรดิที่โลกไม่ลืม ; ปรียานุช ปาริ
  • {6} RECORDS OF THE GRAND HISTORIAN BY SIMA QIAN ; BURTON WATSON
  • {7} The Grand Scribes Records – Volume I The Basic Annals of Pre-Han China (Ssu-ma Chien Edited by William H. Nienhauser etc.)
  • {8} The Early Chinese Empires Qin and Han ; MARK EDWARD LEWIS
  • {9} The Cambridge History of ANCIENT CHINA From The Origins of Civilization to 221 B.C.
  • {10} The Cambridge History of CHINA Volume I The Ch’in and Han Empires, 221 B.C. – A.D. 220
  • {11} The 36 Strategies of the Martial Arts ; HIROSHI MORIYA
  • {12} 《春秋左氏传》
  • {13} 《史记 卷五 ;秦本纪》
  • {14} 《史记索隐 卷二 ;秦本纪》
  • {15} 《吕氏春秋 ;卷二十四》
  • {16} http://www.kaogu.cn/cn/gonggongkaogu/2013/1025/31258.html
  • {17} http://www.xinhuanet.com/politics/2017-03/03/c_129500299.htm

Authors

  • นิสิตป.โท ผู้เคยแข่งรายการแฟนพันธุ์แท้ ราชวงศ์จีน ทำงานอดิเรกเป็นนักแปล นักเขียน ยูทูบเบอร์ ที่มีแพสชันในเรื่องจีน ๆ อย่างแรงกล้า จนอยากผันตัวเป็นนักประวัติศาสตร์สมัครเล่น และสนใจที่จะเผยแพร่สิ่งที่ตัวเองมีความรู้ผ่านสื่อต่าง ๆ

    View all posts
  • Game 黄俊宏

    กราฟฟิกดีไซน์เนอร์ที่เรียนภาษาจีน แบบเรียนๆหยุดๆ จนมารอบล่าสุดเรียนต่อเนื่องแล้ว สนใจภาษา การใช้งาน และ การเล่าเรื่องราวให้เข้าใจง่ายด้วยภาพ เลยมาทำคอนเทนท์ผสมทักษะการออกแบบ เล่าเรื่องและภาษา

    View all posts