键盘 Keyboard ชิ้นเล็กๆ ที่ทำให้จีนก้าวกระโดดในโลกเทคโนโลยี

ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา โลกได้เปลี่ยนไปเป็นอย่างมาก ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก้าวกระโดดขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อจากการเกิดขึ้นของคอมพิวเตอร์ และ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล อย่างไรก็ตามเทคโยโลยีนี้เกิดขึ้นที่ทางฝั่งตะวันตกที่มีรูปแบบภาษาต่างจากภาษาจีนเป็นอย่างมาก แล้วคีย์บอร์ดมีความสำคัญยังไง สุดท้ายอักษรจีนกว่าหมื่นๆ ตัวเข้ามาอยู่ในที่มีแค่ 80 – 100 ปุ่มได้อย่างไร มาเดี๋ยวเล่าให้อ่านกัน

อักษรจีนต่างจากอักษรภาษาอื่นอย่างไร

ก่อนอื่น มาทำความเข้าใจถึงระบบการเขียนของภาษาจีน กับ ภาษาอื่นๆ เช่นภาษาไทยและภาษาฝั่งตะวันตกกันก่อน

อักษรส่วนใหญ่ในโลก รวมถึงภาษาไทย และ อังกฤษ จะใช้อักษรแทนเสียงอ่าน คือผสมอักษรเข้าด้วยกันเพื่อแทนเสียงที่เราพูดๆ กันอยู่ และเชื่อมโยงความหมายจากกลุ่มเสียงนั้นๆ จัดว่าเป็นระบบที่เรียบง่าย เรียนรู้ง่าย ปัญหาที่เรามักเจอจริงๆ คือแค่อ่านออกแต่ไม่เข้าใจความหมาย จริงๆ ยังมีกลุ่มอักษรต่างๆในโลกที่แบ่งได้ถึง 5 แบบใหญ่ๆ ไว้ถ้าสนใจจะเขียนมาเล่าให้อ่านกัน

ในอีกฟากหนึ่ง อย่างที่เราเรียนกันมาตั้งแต่แรกๆเลย 汉字 อักษรจีนจัดเป็นอักษรภาพ หรือชื่อเฉพาะว่า 语素文字 (Yǔsù wénzì | Icongraph) เป็นภาษาที่เกิดจากการวาดภาพขึ้นมาและนำมาเขียนเรียงกันเพื่อสื่อสาร อักษรในกลุ่มนี้ เช่น Hieroglyph ของอียิปต์โบราณ, อักษรของอารยธรรมมายาในตะวันออกกลาง เป็นต้น ซึ่งอักษรจีนเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งเดียวที่เหลือรอดและแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน ข้อดีที่น่าสนใจคือจะเดาความหมายจากภาพได้ง่าย แต่ก็มีข้อเสียคือตัวอักษรเยอะมาก และ อาจจะไม่ได้สัมพันธ์หรือบอกเสียงอ่านเลย

แน่นอนว่าอักษรจีนได้รับการพัฒนามาจนอาจจะไม่สามารถเดาจากภาพได้ทั้งหมด ทั้งปัจจัยความซับซ้อนทางอารมณ์ความคิดของมนุษย์ เทคโนโลยี ความเจริญก้าวหน้าทางวัฒนธรรมตลอดประวัติศาสตร์อารยธรรมจีน

ภาษาจีนไม่ได้ทำมาเพื่อคีย์บอร์ดแต่แรก

键盘 (Jiànpán | คีย์บอร์ด) อุปกรณ์สำคัญที่ขาดไม่ได้เลยในการป้อนข้อมูลทุกอย่างเข้าสู่คอมพิวเตอร์ แต่ปัญหาที่ภาษาจีนต้องเผชิญคือ มันไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับภาษาจีนที่มีอักษรกว่าหมื่นๆ ตัว ด้วยปุ่มเพียง 80 กว่าปุ่ม มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะยัดอักษรพวกนี้ลงไปในคีย์บอร์ดตรงๆ ด้วยการแข่งขันทางเทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์ที่บูมขึ้นตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 – 1990 จีนต้องแข่งกับเวลาเพื่อไม่ให้ประเทศของตนตกขบวนรถไปมากกว่าจึงมีความพยายามที่จะหาวิธีนำอักษรจีนมากมายเข้าสู่การป้อนข้อมูลผ่านคีย์บอร์ดให้ได้ เปรียบเทียบว่าจีนตามหลังแต่ไหน ในปีค.ศ. 1980 คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลได้แพร่หลายไปทั่วในสหรัฐอเมริกา แต่ในจีนกลับมีคอมพิวเตอร์ทั้งประเทศอยู่ราวๆแค่ 3,000 เครื่องเท่านั้น ถ้าอยากจะเกาะไปกับกระแสเทคโนโลยีนี้ เกมนี้พลาดไม่ได้แล้ว

การป้อนข้อมูลผ่านคีย์บอร์ดสำหรับอักษรจีนมีอยู่หลายรูปแบบด้วยกัน ที่เป็นที่มีชื่อเสียงมีหลักๆ ได้แก่

仓颉输入法 (Cāngjié shūrùfǎ | ระบบป้อนข้อมูลด้วยหัวหมวด)

ถือเป็นระบบแรกที่ถูกคิดค้นขึ้นโดย 朱邦復 (Zhū Bāngfù) เมื่อปี ค.ศ. 1976 พยายามจำลองการเขียนอักษรจีนด้วยหัวหมวดต่างๆ ลงไปบนคีย์บอร์ด เหมือนเรากำลังเล่นเกมสร้างอักษร โดยต้องประกอบเป็นอักษรให้ถูกตามลำดับ แต่ก็ยังคงมีปัญหาอยู่ดีเพราะเรียนรู้การใช้งานได้ยาก กว่าจะเดาออกแต่ละตัวทำได้ช้า ปัจจุบันแทบไม่มีคนใช้แล้ว ยังมีอีกหลายระบบที่พยายามสร้างจากหัวหมวดและขีดคล้ายกันอีกอย่าง 五笔字型输入法 เป็นต้น

拼音输入法 (Pīnyīn shūrùfǎ | ระบบป้อนข้อมูลด้วย 拼音)

หนึ่งในการพัฒนาที่สำคัญเลยของจีนแผ่นดินใหญ่ คือความพยายามในการเปลี่ยนภาษาจีนให้ใช้งานได้ง่ายขึ้นเพื่อเพิ่มอัตราการอ่านออกเขียนได้ ครั้งหนึ่ง 毛泽东 (Máo Zédōng | ประธานาธิบดี เหมา) เคยเกือบจะเปลี่ยนอักษรจีนทั้งหมดเป็นอักษรละตินแทนไปเลย แต่ด้วยคำเตือนของ Joseph Stalin ว่าหากจะก้าวขึ้นสู่มหาอำนาจยังจำเป็นต้องมีรากทางวัฒนธรรมอยู่บ้าง การใช้อักษรละตินจึงลงมาอยู่ในส่วนของอักษรเพื่อการอ่านออกเสียง 拼音 อย่างที่เราได้เรียนกันอยู่ทุกวันนี้

อ่านประวัติกว่าจะมาเป็น 拼音 ได้ที่บทความนี้

และด้วยการมี 拼音 เป็นไพ่ในมือที่ทรงพลัง จึงถูกนำมาใช้ในการสร้างระบบการป้อนข้อมูลเข้าสู่คอมพิวเตอร์ วิธีการจัดได้ว่าเรียบง่ายมากๆ นั่นคือ พิมพ์อักษรละตินแทนเสียงไปแล้วคอมพิวเตอร์จะประมวลผลออกมาเป็นอักษรจีน ซึ่งมีอีกเทคโนโลยีหนึ่งที่มาช่วยเป็นอย่างมาก จะกล่าวถึงในส่วนต่อไป

注音输入法 (Zhùyīn shūrùfǎ | ระบบป้อนข้อมูลด้วย 注音)

อีกหนึ่งระบบที่ใช้อักษรแทนเสียงแบบ 注音 มาป้อนข้อมูลแทน จริงๆ ด้วยเหตุผลทางการเมือง ทำให้กลุ่มที่ใช้ระบบนี้เช่น ไต้หวัน มองว่า 拼音 ไม่ใช่ระบบที่เหมาะสม ระบบ 注音 เป็นระบบที่สร้างอักษรแทนเสียงขึ้นมาเพื่อใช้สอนให้คนอ่านออกเสียงอักษรจีนได้ ต่างกันกับ 拼音 ตรงที่เป็นการสร้างอักษรแทนเสียงขึ้นมาเอง ไม่ได้ยืมเสียงละติน การป้อนข้อมูลด้วยระบบนี้ก็เหมือนกันกับระบบ 拼音 เลย นั่นคือ พิมพ์อักษรแทนเสียงไปแล้วคอมพิวเตอร์จะประมวลผลออกมาเป็นอักษรจีนนั่นเอง

สร้างความไวให้สุดด้วย Predictive Texting + Cloud Technology

แค่หาวิธีเอาข้อมูลในคีย์บอร์ดไปแล้วมันยังไม่พอหรอก อย่างที่เล่าไป อักษรจีนไม่ใช่อักษรแทนเสียงโดยตัวเองแถมยังมีอักษรเป็นหมื่นๆตัว แค่พิมพ์ 拼音 เข้าไปกว่าจะเลือกได้ก็นานโขอยู่ ทำให้เสียเปรียบกันอยู่เห็นๆเลยจำเป็นต้องใช้อีกเทคโนโลยีหนึ่งเข้ามาช่วย

ทุกท่านเคยพิมพ์หาข้อมูลใน Google แล้วพิมพ์ไปแค่คำหรือสองคำ ระบบก็แนะนำให้ว่าควรเสิร์ชอะไรขึ้นมาให้เลือกไหมครับ หรือพิมพ์ข้อความในมือถือแล้วมีข้อความด้านบนให้เลือกว่าเราจะพิมพ์คำไหนไหมครับ สิ่งนี้เรียกว่า 预测性文本 (Yùcèxìng wénběn | Predictive Texting) คอมพิวเตอร์จะประมวลผลและคาดเดาให้ว่าเราจะพิมพ์ หลังจากนั้นจะเสนอตัวเลือกให้ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นจากทางตะวันตก เอาจริงๆ ก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากมายขนาดนั้น แต่ไม่ใช่กับภาษาทางตะวันออกอย่างภาษาญี่ปุ่นและจีน ที่รับมาพัฒนาไปจนล้ำหน้าอย่างยิ่งยวด

เริ่มต้นจากญี่ปุ่น จีนได้รับเทคโนโลยีนี้มาใช้ต่อ พัฒนาโดยบริษัท 搜狗 (Suōgǒu | Sogou) ทำให้ทุกคนสามารถพิมพ์ได้เร็วขึ้น เร็วขึ้น แต่ก็ยังเร็วไม่พอ รัฐบาลจีนได้พัฒนาไปอีกขั้นด้วยระบบ AI และ 云技术 (Yún jīshù | Cloud Technology) ให้ทั้งโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ ส่งข้อมูลมาเพื่อประมวลผลและส่งข้อมูลกลับไป ไม่ว่าจะพิมพ์เรื่องดารา ก็จะแนะนำคำที่อยู่ในข่าวในกระแสกลับไปด้วย ทำให้การพิมพ์ข้อมูลนั้นเร็วขึ้นไปอย่างเทียบไม่ติดเลย


นี่เป็นเพียงแค่เรื่องราวส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ประเทศจีนสามารถก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งผู้นำทางเทคโนโลยีได้อย่างทุกวันนี้ แต่เป็นเรื่องราวของการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และพัฒนาทางวัฒนธรรมเพื่อผสานกับเทคโนโลยีได้อย่างน่าสนใจ ยังมีเรื่องราวแบบนี้อีกเยอะ ไว้เดี๋ยวมีโอกาสจะมาเล่าให้อ่านกันในครั้งต่อๆ ไปครับ


ติดตามเรื่องราวภาษาจีนย่อยง่ายๆ ด้วยภาพ หรือมีเรื่องอะไรเกี่ยวกับภาษาจีน มาคุยกันได้ที่

Author

  • Game 黄俊宏

    กราฟฟิกดีไซน์เนอร์ที่เรียนภาษาจีน แบบเรียนๆหยุดๆ จนมารอบล่าสุดเรียนต่อเนื่องแล้ว สนใจภาษา การใช้งาน และ การเล่าเรื่องราวให้เข้าใจง่ายด้วยภาพ เลยมาทำคอนเทนท์ผสมทักษะการออกแบบ เล่าเรื่องและภาษา

    View all posts